xs
xsm
sm
md
lg

“ธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม” ประณามแถลงการณ์ถ่อยเถื่อน จี้ตรวจสอบ-ลงโทษผู้กระทำไม่เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม” ประณามกลุ่มอ้างตนเป็นคณะกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม สภา นศ.มธ. ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เหยียดหยาม ให้ร้าย ส.ว.ที่ไม่โหวต “พิธา” ชี้ มีพฤติกรรมทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ไม่เคารพผู้เห็นต่าง จี้ ผู้บริหารและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำการที่ไม่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2566 กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ขอประณามแถลงการณ์ของกลุ่มที่อ้างตนเป็นคณะกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” มีรายละเอียดระบุว่า

ตามที่มีผู้เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มที่อ้างตนเป็นคณะกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีเนื้อหาประณามการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ออกเสียงรับรองให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม รุนแรง ให้ร้าย และไม่สุภาพ ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้เกิดความรู้สึกอดสูต่อการกระทำดังกล่าว และยังมีการนำตราธรรมจักร สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่เคารพรักของประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งปวง มาใช้ในแถลงการณ์นี้ นั้น

กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม ขอประณามการกระทำดังกล่าวของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม และกรรมาธิการการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย แต่กลับมีพฤติกรรมทำลายประชาธิปไตย ขาดความเคารพในความเห็นต่าง เหยียดหยามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตน ให้ร้ายด้วยถ้อยคำหยาบคายและโทสะจริต ขัดต่อหลักความเท่าเทียมในสังคมอารยะ ทั้งที่ประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ต้องเริ่มจากการมีความรู้และการใช้ปัญญาของประชาชนในสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาและออกเสียงมอบหมายให้ผู้แทนของตนเข้าไปบริหารประเทศชาติ การอ้างเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้งจะกระทำได้อย่างชอบธรรมก็ต่อเมื่อผู้ออกเสียงเหล่านั้นได้ใช้สิทธิออกเสียงโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง ปราศจากการครอบงำทางความคิด การสร้างกระแสผ่านสื่อต่างๆ หรือการจูงใจด้วยผลประโยชน์ตอบแทนในการใช้สิทธินั้น ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยล้วนมีระบบรัฐสภาเพื่อพิจารณากลั่นกรองแนวทาง กฎหมาย หรือรัฐกิจต่างๆ อันเป็นกติกาสากล การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจึงมิใช่การไม่เคารพเสียงของประชาชน หากแต่เป็นธรรมาภิบาลของการกลั่นกรองโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

การประชุมรัฐสภาเพื่อออกเสียงคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการตามกฎกติกาประชาธิปไตย กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่มิได้ออกเสียงคัดค้านแต่เป็นการงดออกเสียงเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการใช้สิทธิออกเสียงของประชาชนได้ใช้มติของกลุ่มตนในการคัดเลือก อีกทั้งยังมีข้อกังวลต่อนโยบายและแนวทางการบริหารของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี อันสอดคล้องกับความกังวลของประชาชนหลายภาคส่วนในสังคมไทยเช่นกัน ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การที่จะอ้างเสียงที่มากกว่าว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ และไม่คำนึงถึงข้อคัดค้านหรือติติงจากเสียงที่ไม่เห็นด้วย จักเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยและมีความเป็นเผด็จการหรือคณาธิปไตยไปโดยปริยาย

กลุ่มฯ ขอเรียกร้องให้ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งสภามหาวิทยาลัย สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โปรดสอบสวนการกระทำดังกล่าว อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของสถาบัน และดำเนินการลงโทษผู้กระทำการที่ไม่เหมาะสมนี้ พร้อมทั้งชี้แจงต่อสังคมให้ได้รับทราบถึงจุดยืนและแนวทางธรรมศาสตร์ ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยและการช่วยเหลือประชาชนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญและความสงบสุขของสังคมไทย รวมทั้งการปกปักรักษาชาติบ้านเมือง และสถาบันหลัก ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมไทยอันดีงาม อันเป็นศาสตร์แห่งธรรมที่ได้วางรากฐานและปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวธรรมศาสตร์ที่แท้จริง เฉกเช่นกงล้อแห่งธรรมที่หมุนไปตามพลวัต นับแต่พุทธศักราช ๒๔๗๗ เป็นต้นมา

'กลุ่มธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม'
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ข่าวเกี่ยวเนื่อง
สุดทน! อดีตรองผู้ว่าฯ ศิษย์เก่า มธ.จวกยับสภา นศ.ใช้ตราธรรมจักรออกแถลงการณ์ถ่อยเถื่อน หลัง ส.ว.ไม่โหวตให้ “พิธา”


กำลังโหลดความคิดเห็น