xs
xsm
sm
md
lg

นักเลงเรียกพี่ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" มาดฟาด-วาทะขยีั "พิธา-ก้าวไกล” กลางสภา **"พิธา" วืดนายกฯ ประกาศไม่ยอมแพ้ขอลุ้นอีกรอบ แบบไม่ลดเพดาน 112 จับตาแผนระดม“ด้อมส้ม”แตกหัก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**นักเลงเรียกพี่ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" มาดฟาด-วาทะขยีั "พิธา-ก้าวไกล” กลางสภา

“ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กลายเป็นดาวเด่นของสภาฯ และโลกโซเชียลฯ พูดกันสนั่นเมือง หลังลุกขึ้นเปิดอภิปรายในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวาน(13ก ค.)

“ชาดา” เริ่มต้นยืนยันจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองที่แก้ไข ม.112 และเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่แสดงเจตจำนงตั้งรัฐบาลแสดงจุดยืนเช่นกัน

ต่อมาเข้าสู่โหมดการอภิปรายที่ถูกพูดถึง ทั้งท่าทาง และวาทะที่ดุเด็ด เผ็ดร้อน!

“ชาดา” ยิงตรง กรณีที่ “พิธา” อ้าง 14 ล้านเสียงที่จะแก้ไขมาตรา 112 บอกจะแก้ไข ไม่ได้ยกเลิก แต่เห็นว่าสิ่งที่นำเสนอไม่ได้เป็นการแก้ไข แต่จะยกเลิก มาตรา112

สิ่งที่ทำ และแสดงออกต่อสาธารณชนมาตลอดว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล คือการส่งเสริมให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายท่าน ถูกดำเนินคดี มาตรา112 หลายคนใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดี มาตรา112 และหลายครั้งผู้กระทำผิดก็ได้รับการสนับสนุนอุ้มชูจากพรรคก้าวไกล

“ชาดา” ตั้งคำถามว่า ก้าวไกลจะแก้ทั้งมาตราหรือจะแก้แบบไหน แต่หากแก้มาตรา 112 บ้านเมืองนี้จะสงบแบบนี้หรือไม่

วันนี้ท่านได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ท่านก็เก็บเรื่องนี้ไว้ในกระเป๋าไว้ไม่ได้หรือ

ถามว่า พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เกิดมาเพื่อจะแก้มาตรา 112 อย่างเดียวเลยหรือ

พฤติการณ์คือ ไม่ยอม นี่คือจุดยืน ทำให้คิดว่าพรรคก้าวไกลเกิดมาเพื่อล้มล้าง!! บอกตัวเองเป็นฝั่งประชาธิปไตย อีกฝ่ายจะเป็นฝั่งอะไร ไม่ใช่ฝั่งประชาธิปไตยหรือ

"ผมเป็นฝั่งโจรหรือไม่ เป็นโจรก็รักชาติ เป็นโจรก็รักสถาบัน เป็นโจรก็ปกครองบ้านเมืองนี้ ด้วยหัวใจและเลือดเนื้อของผม" ชาดาว่า

จากนั้นถามไถ่กันเกรียวว่า “ชาดา” เป็นใคร อย่างไร ?

“ชาดา”วัย 62 ปี เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2504 ในครอบครัวมุสลิมปาทาน ที่อพยพจากปากีสถาน มาตั้งรกรากที่อุทัยธานี ตั้งแต่รุ่นปู่ โดยปู่ของชาดาเป็นพ่อค้าเนื้อรายใหญ่ของอุทัยธานี

แต่มารุ่นพ่อ “เดชา ไทยเศรษฐ์” เป็นพ่อค้าซุงก่อน แล้วหันมาค้าเนื้อส่งออกและขายในจังหวัดอุทัยธานี

ว่ากันว่า ชีวิตวัยเด็กของ “ชาดา” ค่อนข้างลำบาก เพราะ ตอนที่อายุ 7 ขวบ ประมาณปี 2511 พ่อของเขาถูกยิงเสียชีวิต ตามมาด้วยอีก 7 ปีต่อมา แม่ของชาดาก็มาถูกยิงเสียชีวิต และในปีเดียวกัน พี่ชายที่มารับช่วงค้าเนื้อ ก็ถูกยิงเสียชีวิตอีกคน ครอบครัวจึงเหลือเพียง “ชาดา”กับ"มนันญา" ผู้เป็นน้องสาว ต้องสู้ชีวิตด้วยกันสองคน

“ชาดา” เคยสมรสกับ “เตือนจิตรา แสงไกร” และ “อัจฉรา ทองเทพ” มีบุตรทั้ง 7 คน เป็นบุตรในสมรส 4 คน และเป็นบุตรนอกสมรส ที่รับรองแล้วอีก 3 คน

ชาดา ไทยเศรษฐ์
เส้นทางการเมืองของ “ชาดา” เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี ปี 2543 เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคถิ่นไทย ปี 2550 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส อุทัยธานี สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

ในระหว่างดำรงตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎร “ชาดา” เคยเป็นประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และ กรรมาธิการงบประมาณ
ปี พ.ศ.2561 จึงย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันเป็น รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และส.ส.อุทัยธานี เขต 2 ในการเลือกตั้ง ปี 2566

ด้วยบุคลิก พูดจาตรงไปตรงมา เด็ดขาด และนักเลง “ชาดา”จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้กว้างขวางของอุทัยฯ ชนิด "นักเลง" เรียกพี่!

อดีตที่ผ่านมา มีวีรกรรม เคยถูกจับกุมในข้อหาจ้างวานฆ่า สมเกียรติ จันทร์หิรัญ เลขานุการของ ประแสง มงคลศิริ ส.ส.พรรคไทยรักไทย เหตุเกิดเมื่อปี 2546 สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง ในปี2548

ปี 2555 “ชาดา” ถูกลอบยิงที่ปากช่อง นครราชสีมา แต่พลาดไปถูก “ฟารุต ไทยเศรษฐ์” ลูกชาย เสียชีวิตบนรถของชาดา ซึ่งในขณะนั้นชาดานั่งอยู่บนรถของเพื่อน

ขณะที่ ไม่นานมานี้ “ชาดา” เคยตบหน้า “ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ” ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรณีการผิดคิวการอภิปราย

นี่คือ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ผู้ที่มาดแบบฟาดๆ วาทะขยี้ พิธาและก้าวไกล ในสภาฯ!

**"พิธา" วืดนายกฯ ประกาศไม่ยอมแพ้ขอลุ้นอีกรอบ แบบไม่ลดเพดาน 112 จับตาแผนระดม“ด้อมส้ม”แตกหัก!!

การประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”เป็นนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) จบลงด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 324 คะแนน ไม่เห็นชอบ 182 คะแนน และ งดออกเสียง 199 คะแนน สรุปว่ามีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาคือ 375 เสียง

เป็นอันว่า ไม่มีเซอร์ไพรส์ “พิธา” ไปไม่ถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามที่หลายฝ่ายคาดไว้แต่แรก

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
บรรยากาศในสภาก่อนโหวตนั้นคึกคัก ร้อนแรง ประเด็นที่อภิปรายส่วนใหญ่อยู่ที่ มาตรา 112 ส่วนบรรยากาศนอกสภา ที่ก่อนหน้านั้นมีการออกข่าวว่าพรรคก้าวไกลได้ระดม “ด้อมส้ม” มวลชน เครือข่ายเกือบยี่สิบองค์กรมาร่วมแสดงพลัง แต่ปรากฏว่า ไม่เข้าเป้า รวมแล้วมากันไม่ถึงหลักพัน

หลังจาก “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ให้เวลาในการอภิปรายของทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ กระทั่งเวลา 16.00 น. ประธานฯ ได้ให้สมาชิกลงคะแนนแบบเปิดเผย ด้วยการขานชื่อ เรียงลำดับตามตัวอักษร คือไม่แยก ส.ส.-ส.ว.

บรรดา “ด้อมส้ม”หน้าสภา ก็ลุ้นผลโหวตจากการถ่ายทอดสดผ่านจอมอนิเตอร์ ในช่วงแรกๆ จะคึกคัก ใจจด ใจจ่อมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ขานชื่อ ส.ส. และส.ว. ที่โหวต “เห็นชอบ” ก็จะมีเสียงปรบมือ วี้ดวิ้วดีใจ แต่เมื่อขานชื่อแล้ว “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” ก็จะมีเสียงโห่ตามมา เมื่อการโหวตผ่านไปกว่าครึ่งทาง เริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่า “พิธา” แพ้แน่ ด้อมส้มก็เริ่มคอแห้ง เสียงโห่เบาบางลง และหายไปในที่สุด

เรียกว่าพอรู้ผลแล้ว เหลือกันอยู่ไม่ถึงร้อย และ “แดดดี๊พิธา” ก็ไม่ลงมาพบปะทักทายด้วยเลย ...ด้อมเซ็งสุดๆ

การโหวตครั้งนี้ มีการจับตาว่า ส.ว.จะลงคะแนนให้กี่เสียง... ใครบ้าง... ซึ่งเสียงส.ส.ใน 8 พรรคร่วมมี 311 เสียง (ไม่รวม วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา) จึงต้องการเสียง ส.ว.อย่างน้อย 65 เสียง มาช่วยหนุน เพื่อให้ได้ 376 เสียง

ปรากฏว่า มีส.ว.ที่โหวตเห็นชอบแค่ 13 คน คือ 1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 3.เฉลา พวงมาลัย 4.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อะมีรุ้ลฮัจย์ 5.พล.ต.ท. ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง 6.พีระศักดิ์ พอจิต 7.มณเฑียร บุญตัน 8.พิศาล มาณวพัฒน์ 9.วันชัย สอนศิริ 10.วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 11.สุรเดช จิรัฐติเจริญ 12.อำพล จินดาวัฒนะ 13.ประภาศรี สุฉันทบุตร

ยังมีรายงานว่า มีส.ว.ลาประชุมทั้งหมด 33 คน ทำให้เหลือจำนวนส.ว.ที่เข้าร่วมประชุม 216 คน แต่พอถึงเวลาลงมติ มี ส.ว.ที่ขานชื่อลงมติเพียง 205 คนเท่านั้น แสดงว่า มีส.ว.อีก 11 คน ที่ไม่ได้ลาประชุม แต่ไม่ร่วมลงมติใดๆ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ขณะที่ ส.ว.บางส่วนที่เคยมีข่าวว่า จะลงคะแนนสนับสนุน “พิธา” ตามหลักการเสียงข้างมาก แต่กลับไม่ปรากฏผลการลงคะแนนใดๆ อาทิ น.ส.ภัทรา วรามิตร นายประมาณ สว่างญาติ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ นางประยูร เหล่าสายเชื้อ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ที่ไม่ลงมติ ขณะที่ นายรณวริทธ์ ปริยฉัตรตระกูล นายทรงเดช เสมอคำ ที่เคยระบุจะลงมติสนับสนุนนายพิธา แต่กลับ งดออกเสียง

หลังรู้ผลโหวต “พิธา” ให้สัมภาษณ์ว่า ยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ เหตุที่คะแนนออกมาเช่นนี้ เพราะว่ามีการกดดัน ส.ว.เยอะ และยังที่ไม่มาประชุมอีก 40 กว่าคน ผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ และหลังจากนี้ จะหาเวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงเพื่อโหวตใหม่เป็นครั้งที่ 2 อีกรอบ ส่วนจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ... ส่วนท่าทีของพรรคตัวแปร อย่างเพื่อไทยนั้น เราก็ยังทำงานด้วยความเชื่อใจ ซึ่งกันและกัน

“ พิธา”ยังคงยืนยันว่า จะไม่ถอย ไม่ลดระดับ เรื่องมาตรา 112 ... เราได้สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ไม่ถอย และวันนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภา เพื่ออธิบายให้ส.ส.และส.ว. ที่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ได้เข้าใจตรงกัน ...ใครที่คิดว่าถ้าเราถอยเรื่องมาตรา112 แล้วจะได้เสียงเพิ่มนั้น เป็นอุปมา อุปไมย ที่ไม่ใช่เรื่องจริง เราอาจจะได้เสียงเพิ่ม แต่ไม่ใช่จากเงื่อนไขดังกล่าว ตอนนี้ขอเวลาทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เสียก่อน

เมื่อถามว่าถ้าพรรคเพื่อไทย ขอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบ้าง จะยอมหรือไม่ “พิธา” บอกว่า “ยังไม่ถึงเวลา ตอนนี้ผมยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่”

ในทางการเมือง เรื่องนี้เชื่อว่า เพื่อไทยก็คงไม่ยอมที่จะเสนอชื่อ “พิธา” อีกรอบแบบง่ายๆ คงต้องมีการเจรจากันใหม่ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ๆ

คนวงในมองกันว่า ที่ “พิธา” ยังคงยืนกรานที่จะขอสู้อีกรอบนั้น เรื่องหวังพึ่งเสียงส.ว. ที่ลา ที่หายไปนั้น เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักคือ ขอโอกาสระดม “ด้อมส้ม” อีกครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ที่เลือกก้าวไกล ยกจังหวัดด รวมทั้งจังหวัดที่พิธาเพิ่งไปตระเวนขอบคุณมา

ต้องจับตาว่า “พิธา” ที่ตอนนี้รั้งตำแหน่ง “นายกฯทิพย์” จะมีโอกาสได้โหวตรอบสองหรือไม่ และถ้าได้ “สีส้ม” ที่เคลมว่ามี 14 ล้าน จะพรึบหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น