โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ย้ำจุดยืนการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนควบคู่กับการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ผ่านกรอบความร่วมมือกับ UNESCO และส่งเสริมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามเส้นทางสายน้ำแห่งอาเซียน (ไทย-ลาว-กัมพูชา)
วันนี้ (6 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ชื่นชมความร่วมมือนี้ และหวังว่าจะเป็นโอกาสสนับสนุน การท่องเที่ยวและการพัฒนาท้องถิ่นสำหรับมรดกโลก แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เมืองสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และยูเนสโก ได้กำหนดกรอบความร่วมมือและพัฒนา มาตั้งแต่ปี 2557 และได้มีการต่ออายุความร่วมมือระหว่างกันครั้งที่ 2 ในปี 2562 โดยได้มีการดำเนินโครงการ “เครื่องมือการบริหารการจัดการนักท่องเที่ยว” (Visitor Management Assessment and Strategy Tool - VMAST) โดยการจัด Online workshop ในประเทศไทย รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนและเขตเศรษฐกิจเอเปค
สำหรับการดำเนินการในปี 2566 นี้ เน้นไปยังพื้นที่พิเศษ ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อพท. เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินกิจกรรม โดยจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามเส้นทางสายน้ำแห่งอาเซียน (ไทย-ลาว-กัมพูชา) โดย อพท. ได้รายงานต่อคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Committee) และจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนสิงหาคม 2566 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนอาเซียน-ตุรกี (ASEAN-Turkey Fund) เพื่อปกป้องพื้นที่ทางมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้ และจำต้องไม่ได้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมทุกความร่วมมือที่จะเกิดประโยชน์ต่อโลกใบนี้ เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กับ UNESSCO ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืน จะต่อยอดพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รักษาความมั่นคงของระบบนิเวศ รักษามรดกทางวัฒนธรรม รับผิดชอบต่อสังคม ดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ไทย และแหล่งท่องเที่ยวไทยเกิดการพัฒนาอย่างสมดุลควบคู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” นายอนุชาฯ กล่าว