xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตรียมกลับเข้าเป็นสมาชิก UNESCO หวั่นถูก ‘จีน’ สยายอิทธิพลแทนที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยสหรัฐฯ มีแผนที่จะกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีกครั้งหลังจากที่ถอนตัวออกไปเมื่อ 5 ปีก่อนในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากความกังวลที่ “จีน” เริ่มเข้ามาแทนที่ช่องว่างของสหรัฐฯ ในด้านการวางนโยบายของ UNESCO โดยเฉพาะการกำหนดมาตรฐานในด้านปัญญาประดิษฐ์และการศึกษาด้านเทคโนโลยีทั่วโลก

ทั้งนี้ การกลับเข้าเป็นสมาชิกของประเทศผู้อุดหนุนรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ จะต้องผ่านกระบวนการโหวตรับรองโดยรัฐสมาชิก UNESCO ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทว่าเมื่อฟังจากเสียงปรบมือกึกก้องต้อนรับคำประกาศดังกล่าวที่สำนักงานใหญ่ UNESCO ที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ (12 มิ.ย.) ก็คาดว่าเรื่องนี้น่าจะ “ผ่านฉลุย”

สหรัฐฯ และอิสราเอลหยุดจ่ายเงินสมทบให้แก่ UNESCO หลังจากที่องค์กรแห่งนี้โหวตรับ “ปาเลสไตน์” เข้าเป็นรัฐสมาชิกในปี 2011 และต่อมาในปี 2017 รัฐบาล ทรัมป์ ก็ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวอย่างเป็นทางการในปีถัดมา โดยอ้างเรื่องการมีอคติต่ออิสราเอลและปัญหาด้านการบริหารจัดการ

ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO พยายามแก้ไขข้อวิตกกังวลเหล่านี้นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2017 และก็ดูเหมือนว่าจะได้ผล

“นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับ UNESCO และถือเป็นวันสำคัญสำหรับความเป็นพหุภาคี” เธอกล่าวเมื่อวันจันทร์ (12)

ริชาร์ด เวอร์มา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการจัดการและทรัพยากร ได้ยื่นจดหมายถึง อาซูเลย์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อแจ้งความประสงค์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกลับเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งการตัดสินใจของวอชิงตันถือว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับ UNESCO ซึ่งมีโครงการสำคัญๆ เช่น มรดกโลก (World Heritage) การต่อสู้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับสตรี เป็นต้น

จอห์น บาสส์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการจัดการ เคยแถลงเมื่อเดือน มี.ค. ว่า การที่สหรัฐฯ ถอนตัวจาก UNESCO เท่ากับเปิดทางให้จีนได้แสดงบทบาทมากยิ่งขึ้น และ “บั่นทอนศักยภาพของอเมริกาในการส่งเสริมวิสัยทัศน์แห่งโลกเสรี”

บาสส์ ย้ำว่า UNESCO เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดมาตรฐานด้านการเรียนการสอนเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทั่วโลก “ดังนั้น หากเรามองการแข่งขันกับจีนในยุคดิจิทัลเป็นเรื่องจริงจัง เราก็ไม่อาจปลีกตัวออกมาได้อีกต่อไป”

ภายใต้แผนการดังกล่าว สหรัฐฯ จะคืนเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ UNESCO จนถึงปี 2023 บวกกับเงินโบนัสอีก 10 ล้านดอลลาร์สำหรับปีนี้ เพื่อนำไปเป็นทุนสนับสนุนการให้ความรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในยูเครน ดูแลความปลอดภัยสื่อมวลชน และสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแอฟริกา

ทั้งนี้ รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้เตรียมจัดสรรงบอุดหนุน UNESCO จำนวน 150 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2024 และจะทยอยจ่ายคืนเงินสมทบที่สหรัฐฯ ค้างอยู่ในปีต่อๆ ไปจนกว่าจะครบ 619 ล้านดอลลาร์

UNESCO ใช้งบประมาณดำเนินการต่อปีราว 534 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินอุดหนุนจากสหรัฐฯ นั้นคิดเป็นราวๆ 22% ของวงเงินทั้งหมด

ที่มา : AP
กำลังโหลดความคิดเห็น