ข่าวปนคน คนปนข่าว
**เล่นหุ้นงานหลัก นายกบอลก็แค่ไซด์ไลน์!? “สมยศ” เจียด110 ล้านจิ๊บๆ ดันตัวเองขึันแท่น "ขาใหญ่" อันดับ 3 WP
“พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” เคยพูดว่าอาชีพหลักของตัวเองคือ เล่นหุ้น ส่วนอาชีพอื่นแค่เป็นไซด์ไลน์
เห็นจะยืนยันดังว่า เพราะขนาดโดน "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานโอลิมปิคไทย และแฟนบอลรุกไล่ให้พิจารณาตัวเอง ลาออกจากนายกสมาคมลูกหนังไปเถอะ จวนอยู่เจียนไป สุดท้ายคิดมุกหาทางลงด้วยการ "ชักฟีฟ่าเข้าบ้าน"จับทีมชาติไทย เป็นตัวประกัน ขันน็อตเก้าอี้ให้แน่นด้วยมติสภากรรมการให้ "อยู่ต่อ" รอดมาได้แบบเครียดๆ บีบน้ำตา ก็ยังมีเวลาเข้าตลาดหุ้น เทรดหุ้นชิลชิล
ในตลาดหุ้นต้องถือว่า “สมยศ” ไม่ธรรมดา จะเรียกว่า "ขาใหญ่" ก็ไม่ผิดนัก จัดหุ้นแต่ละที ลงทุนแต่ละครั้ง ไม่หนักก็ไม่ใช่ “อ๊อด”
อย่างวันก่อน (3ก.ค.) นักลงทุนแมงเม่าแมงหวี่ พากันอ้าปากหวอ เมื่อหุ้น WP บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) มี "บิ๊กล๊อต" เข้ามาโครม เหมือนฝนห่าใหญ่ตกในฤดูแล้ง ขณะที่ภาวะตลาดหุ้นโดยรวมซบเซา เงียบเหงา
ผลจากเงินก้อนโต ทำให้ราคาหุ้น WP ปรับขึ้นทันที 0.50 บาท หรือ +12.02% จากราคาปิดวันก่อนหน้า โดยขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดที่ 5.05 บาท มูลค่าการซื้อขายรวม 103.51 ล้านบาท
สืบไปสืบมา ถึงได้รู้ว่า "สมยศ" ขาใหญ่ เคลื่อนไหว นั่นเอง โดยคำสั่งซื้อล็อตใหญ่มาตั้งแต่ วันที่ 29 มิ.ย.จำนวนรวม 25,925,000 หุ้น โดย “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ได้รายงานการได้มาหุ้น WP จำนวน 5% ในราคาหุ้นละ 4.27 บาท เป็นเงินลงทุนรวม 110,699,750 บาท
เรียกว่า ไม่น้อยเลย ส่งผลให้ภายหลังการได้มาทำให้ “สมยศ” มีสัดส่วนการถือหุ้นใน WP รวมเป็น 57,034,014 หุ้น หรือ 10.99% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 3 ของบริษัท รองลงมาจาก “น.ส ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 17.967 % และ “อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 2 ในสัดส่วน 16.393%
สำหรบ บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) เป็นบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG) และ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ซึ่ง “พล.ต.อ.สมยศ” เข้าไปซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2557 หลังจากนั้น WP ก็จึงถูกบริหารงานภายใต้ตระกูล "พุ่มพันธุ์ม่วง"
งานนี้ก็คงไม่ต้องถามอะไรกันให้เจ็บคอ ระหว่าง สมาคมฟุตบอล ที่ตอนนี้มีดรามาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งนายกฯ การบริหารงานที่ล้มเหลว ทีมชาติไทยไม่ไปไหนสักที ปัญหาลิขสิทธิ์ที่เม็ดเงินหดอย่างน่าใจหาย ส่วนแบ่งรายได้ให้สโมสรต่างๆ เงินจัดสรรพัฒนาจะจ่ายน้อย จ่ายช้า สโมสรไหน ใครจะล้มตาย ถามว่าใครแคร์ !! ??
บอกแล้วว่า เล่นหุ้นเป็นหลัก อื่นๆ รวมถึงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอล แค่ไซด์ไลน์ จริงไม่จริง ? ตัองถาม “สมยศ”กันเองนะจ๊ะ!
**ตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ พระ-เณร แย่งกัน สุดท้ายเสร็จโต๊ะอีหม่าม
เปิดสภาวันแรกก็เหมือนเปิดเทอมใหม่ บรรยากาศที่ “สัปปายะสภาสถาน” เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) จึงคึกคักเป็นพิเศษ ทั้งส.ส.หน้าใหม่ที่เพิ่งได้สัมผัสกับสภาเป็นครั้งแรก ส.ส.หน้าเก่าที่ห่างหายจากสภาไปนานแล้วได้กลับมาใหม่ รวมทั้ง ส.ส.หน้าเก่าที่เข้าสภาเป็นประจำ ได้มาพบปะทักทายกัน กองทัพนักข่าวก็มากพิเศษ เพราะจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร กับ รองประธานฯ อีก 2 คน
อย่าง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งห่างหายจากสภาไปหลายปี วันนี้มาในชุดสีชมพูสดใส เห็นแต่ไกล ส่วน “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก พอเข้าประจำที่นั่ง ก็มีบรรดาส.ส.ทั้งอายุอานามรุ่นราวคราวเดียวกัน รุ่นลูก รุ่นหลาน เข้ามาสวัสดี ยกมือไหว้ทักทาย บางคนก็กราบแทบตัก เพื่อแสดงความเคารพ ยินดี ถึงกระนั้นก็ยังมี “มือร้าย” จ้องถ่ายภาพ “ลุงป้อม”ในช่วงที่หลับตา แล้วเอามาโพสต์ในโซเชียลฯ หาว่าลุงหลับอีกแล้ว!!
ไฮไลต์ของการประชุมสภาครั้งนี้ อยู่ที่วาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย จะตั้งโต๊ะร่วมแถลงกันเมื่อตอนค่ำวันที่ 3 ก.ค.ว่า สองพรรคเห็นพ้องต้องกันที่จะเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา แต่หลายคนก็ยังลุ้นว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไร หรือไม่ จะมีพรรคขั้วตรงข้ามเสนอชื่อใครมาแข่งขันหรือไม่ ถ้ามีการแข่งกัน จะพลิกล็อกหรือไม่
แล้ววาระการเลือกประธานสภา ก็เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.05 น. โดย “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะส.ส. ที่มีความอาวุโสสูงสุดในที่ประชุม คืออายุ 89 ปี ก็ได้รับเชิญขึ้นทำหน้าที่ประธานชั่วคราว มี ส.ส.เข้าร่วมลงชื่อเข้าประชุม 496 คน ถือว่าครบองค์ประชุม ...ก่อนอื่นประธานในที่ประชุมให้ ส.ส.กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่
จากนั้น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นเสนอชื่อ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ด้วยตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาแข่งด้วย
“พล.ต.ท.วิโรจน์” จึงประกาศว่า ถือว่าที่ประชุมได้มีมติให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรตามข้อบังคับการประชุมข้อ 6 วรรค สาม
เป็นอันว่า “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 2 และเป็นประธานสภาฯ ชุดที่ 26 ตามที่มีการแซวกันในเชียลฯว่า “พระ-เณร แย่งกันสุดท้ายเสร็จโต๊ะอีหม่าม”
กลายเป็นว่า การเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 เป็นไฮไลต์วัดพลังของสองขั้ว เมื่อ“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ “นายปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ขณะที่ “นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ “นายวิทยา แก้วภารดัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นมาประกบ
หลังจากทั้งคู่ได้แสดงวิสัยทัศน์ ประธานในที่ประชุมก็เปิดให้มีการลงคะแนนแบบลับ ผลปรากฏว่า "ปดิพัทธ์" ชนะ "วิทยา" ด้วยคะแนน 312-105 คะแนน งดออกเสียง 77 คะแนน บัตรเสีย 2 คะแนน
ส่วนรองประธานสภาคนที่ 2 มีการเสนอชื่อ “นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เพียงคนเดียว ไม่มีคู่แข่ง ทำให้ พิเชษฐ์ “จอมนับองค์ประชุม” ในช่วงปลายสมัยประชุมที่แล้ว จนเกิดเหตุการณ์สภาล่มซ้ำซาก ได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ไปโดยปริยาย...นี่เรียกว่าเสนอนับองค์ประชุมจนได้ดี
แต่ที่เป็นประเด็นให้ต้องพูดถึง คือการโหวตเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 ที่คะแนนของฝั่งร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้ 312 คะแนนนั้น ถือว่าเป็นไปตามคาดหมายไม่มีใครแตกแถว เพราะ “ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์” พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จากเรื่องเมาแล้วขับ ไปแล้ว
แต่ฝั่งรวมรัฐบาลเดิมที่มีคนโหวตให้ “วิทยา” เพียงแค่ 105 เสียง ทั้งที่ควรจะเป็น 187 เสียง เพราะ“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลาออกไป
แต่ที่งดออกเสียง 77 คะแนน กลายเป็นการจุดประกายความหวังที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เอาไปเคลมว่า เสียงจำนวนนี้ อาจจะหันมาโหวตให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว.ก็เป็นได้
แต่ “ฝันกลางวัน” ของพิธา ดำรงคงอยู่ไม่นาน ก็มีการเฉลยออกมาว่าใน 71 คะแนน ที่งดออกเสียงนั้น เป็นของส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ปล่อยฟรีโหวต แต่ลูกพรรคก็ยังโหวตไปในทิศทางเดียวกัน คือ งดออกเสียง
มีคำอธิบายตามมาว่า เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ไม่ต้องการโหวตให้คนของพรรคก้าวไกล ที่ยืนกรานจะแก้ไข มาตรา 112 ให้ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณ ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อยอีกด้วย
ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ถูกวิพากวิจารณ์ว่า “ก้าวไกล” พ่ายหมดรูปให้กับ “เพื่อไทย” เพราะพรรคประชาชาติ ที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ก็เหมือนเป็นสาขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ที่คุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายแตกแบงก์พัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ดังนั้นการที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ได้เป็นประธานสภาฯ ก็ไม่ต่างจากคนของพรรคเพื่อไทยได้เป็น
แต่สำหรับ “พิธา”แล้ว เขาบอกว่าไม่ใช่การพ่ายแพ้ แต่เป็นการถอยมาหนึ่งก้าว เพราะการที่จะก้าวไปให้ไกลที่สุดนั้น จะต้องถอยมาหนึ่งก้าวก่อน ...
ก็ต้องติดตามกันต่อไปการถอยก้าวนี้ จะช่วยให้ “พิธา” พุ่งไปไกลถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่