รองโฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรียินดีองค์การสหประชาชาติ จัดอันดับความยั่งยืนไทยดีขึ้น และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ตอกย้ำผลสัมฤทธิ์กำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ
วันนี้ (25 มิ.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และมีความยินดีที่การพัฒนาของประเทศไทยดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลคะแนน SDG Index ที่ 74.7 คะแนน ในปี 2566 ทำให้ไทยมีคะแนนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำผลสัมฤทธิ์ที่รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13
“พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของประชาชน และทั้งหมดถูกทำให้ชัดเจนขึ้นเมื่อถูกบรรจุให้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาประเทศระดับต่างๆ และแนวทางการพัฒนาของไทยก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เห็นผลได้จากการจัดอันดับ SDG Index ของยูเอ็นในปีล่าสุดนี้ด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ยูเอ็น ได้จัดทำ Sustainable Development Report มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นการรายงานประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประเมินการพัฒนาตาม SDGs ทั้งหมด 17 ด้าน และประมวลผลเป็น SDG Index ของแต่ละประเทศ ประกอบด้วย 1. การขจัดความยากจน 2. การขจัดความหิวโหย 3. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4. การศึกษาที่มีคุณภาพ 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี 7. การมีพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ 8.การมีงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
9. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 10. การลดความเหลื่อมล้ำ 11. การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 12. การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน 13. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 14. การอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล 15. การรักษาระบบนิเวศบนบก 16. การมีสังคมสงบสุข ยุติธรรมและมีสถาบันที่เข้มแข็ง และ 17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน