xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็น ชี้ “ความขัดแย้ง-ฟื้นศก.” ปัญหาใหญ่ ก้าวบรรลุเป้า SDGs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2023 เผยอุปสรรคใหญ่ของการบรรลุผลการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก ไม่ใช่ประเด็นของกองทุน หรือการขาดการสนับสนุนทางการเงินแต่เป็นเรื่องความขัดแย้ง หรือประเด็นความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ เล็งสอบทวนในเชิงลึกเกี่ยวกับ SDGs รวม 5 เป้าหมาย ก.ค.นี้ ขณะที่ ‘ฟินแลนด์’ ครองแชมป์บรรลุเป้า SDGs

ฝ่ายเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (DESA) ได้เผยแพร่รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกหรือ Global Sustainable Development Report (GSDR) 2023 ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับเบื้องต้นก่อนการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ทันต่อความพยายามในการมุ่งเน้นที่จะเร่งรัดให้มีการเปลี่ยนแปลงและผ่านเข้าสู่จุดสำคัญของกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์อิสระที่จะเอาชนะความท้าทายที่ยังคงมีอยู่มากมาย

ปี 2023 ถือเป็นช่วงกลางของวาระที่กำหนดไว้เป็นกรอบระยะเวลาการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะไปสิ้นสุดในปี 2030 ตามรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกหรือ Global Sustainable Development Report ดังกล่าว จะมีการเผยแพร่ทุก 4 ปี โดยรวบรวมผลงานจากนักวิทยาศาสตร์อิสระ ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการสหประชาชาติ บนเป้าหมายที่ต้องการเสริมสร้างและขับเคลื่อนให้เกิดการสานต่อนโยบายวิทยาศาสตร์ และใช้เป็นเอกสารหลักฐานที่สำคัญในการอภิปรายการประชุมทางการเมืองระดับสูงขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPE) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ และการประชุมสุดยอด SDG ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน

ประเด็นที่มีความสำคัญ 5 ด้าน สำหรับปี 2023 ซึ่งเป็นความพยายามขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดสันติภาพทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผ่านจากการสิ้นสุดของสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโรคโควิดไปสู่โลกประจำถิ่น ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ประเทศต่างๆ จากกลับมาเจรจาด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายใหม่ในอนาคตได้ จนสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายได้ภายในปี 2030 โดยเฉพาะประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับมือต่อความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อนำเงินกองทุนนี้ไปช่วยให้ประเทศที่มีความเปราะบางสามารถรับมือ ลงทุนเพิ่มเติมในการฟื้นฟูด้านสภาพอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวให้เหมาะสมกับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

แต่ดูเหมือนว่าประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ของการบรรลุผลการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก อาจจะไม่ใช่ประเด็นของกองทุน หรือการขาดการสนับสนุนทางการเงินพรรคแต่เป็นความขัดแย้งหรือประเด็นความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ ในประเทศภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทำให้การแก้ไขปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความยากลำบากมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19 เป็นลำดับต้นมากกว่าการสนใจต่อปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ ปี 2023 จึงเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ปฏิทินหรือตารางการพิจารณาหารือกันในส่วนอื่นได้ถูกเลื่อนออกไป เช่นกรณีของสนธิสัญญาทะเลหลวง เพื่อทำให้การประชุมสุดยอด SDG ครั้งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ผู้นำประเทศต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ จะได้ร่วมกันพิจารณาถึงความคืบหน้าของเป้าหมายในทุกๆ รอบ 4 ปี โดยจะมีรายงาน Global Sustainable Development Report (GSDR) 2023 เป็นส่วนในการเปิดตัวเพื่อเริ่มต้นการหารือดังกล่าว


ส่วนที่เป็นการประชุมในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ หรือ High-level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) ครั้งที่ 11 ได้เพิ่มความพยายามในการสนับสนุนให้มีการทบทวนเป้าหมายระยะปานกลางของการดำเนินการด้าน SDG รวมทั้งเป็นการสอบทวนในเชิงลึกเกี่ยวกับ SDGs รวม 5 เป้าหมายจาก 17 เป้าหมาย ได้แก่


-เป้าหมาย 6 เรื่องน้ำสะอาดและสุขอนามัย
-เป้าหมาย 7 เรื่องพลังงานสะอาดและราคาไม่แพง
-เป้าหมาย 9 เรื่องอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
-เป้าหมาย 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ
-เป้าหมาย 17 ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย


ความสนใจมุ่งที่เป้าหมาย 5 ประเด็นดังกล่าว จาก 17 เป้าหมายมาจากเหตุผลที่ว่าเรื่องเหล่านี้ยังมีการพูดถึงในวงกว้างที่ไม่เพียงพอ หากไม่มีการกระตุ้นการดำเนินการเป็นพิเศษ อีกทั้งเป้าหมายใน 5 เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการบนเป้าหมายร่วมกันระหว่างประเทศ อาจจะต้องใช้เวลานานตลอดช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง หากไม่ทำให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินการก็ยากที่จะมีความคืบหน้า


ฟินแลนด์ ครองแชมป์ บรรลุเป้า SDGs ไทย แชมป์อาเซียน

แจ้งผลกันอีกครั้ง สำหรับการจัดอันดับตามรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับล่าสุด จากประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ และคำนวณร้อยละของความสำเร็จ ประเทศฟินแลนด์ครองอันดับ 1 ด้วยคะแนน 86.51% อันดับ 2 ประเทศเดนมาร์ก 85.63% และอันดับ 3 ได้แก่ สวีเดน 85.19% ขณะที่นอร์เวย์ครองอันดับ 4 ด้วยคะแนน 82.35% และออสเตรียอยู่อันดับ 5 ที่ 82.32% โดยแนวทางที่สำคัญเป็นการผสมผสานระหว่างการหานวัตกรรมสีเขียว และการเพิ่มการดูแลธรรมชาติ

ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 44 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ด้วยคะแนน 74.13 คะแนน โดยสามารถบรรลุเป้าหมาย ในการติดตามหรือรักษาผลสำเร็จของ SDG คือ SDG1 ไม่มีความยากจน SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG6 น้ำสะอาดและสุขอนามัย SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน SDG12 การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ

ประเทศไทยยังคงมีความท้าทายยังคงอยู่หลายด้าน ซึ่งมีการปรับปรุงปานกลาง ได้แก่ SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG7 พลังงานสะอาดและราคาไม่แพง SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังมีความท้าทายที่สำคัญยังคงอยู่ คือ SDG2 ความหิวเป็นศูนย์ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG13 การดำเนินการด้านสภาพอากาศ SDG14 ชีวิตใต้น้ำ SDG15 ชีวิตบนบก SDG16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วน SDG17 ความร่วมมือเพื่อเป้าหมาย อยู่ในเกณฑ์ที่กำลังลดลง

นอกจากนั้น รายงานฉบับดังกล่าวของ UN ยังชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีสัญญาณเตือนที่ชัดเจนถึงความไม่เพียงพอและการไม่มุ่งเน้นยึดมั่นต่อคำมั่นสัญญา ด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศของประเทศต่างๆ ทั้งที่ผ่านมาถึงจุดกึ่งกลางของการบริหารการพัฒนาแบบยั่งยืนแล้ว ยังไม่ปรากฏการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือ มีความจริงจัง มีแนวคิดในเชิงริเริ่มและนวัตกรรม ตลอดจนการแก้ปัญหาที่ดิน สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างแท้จริงในลักษณะที่ทำให้มั่นใจว่ามีการขับเคลื่อนเข็มทิศของการดำเนินการไปข้างหน้า และมีการตอบสนองต่อความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างน่าพอใจ ทั้งที่ไม่มีประเทศใดในโลกที่รอดพ้นจากภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น