แกนนำ ปชป. มองปมขัดแย้งแย่งประธานสภา เพราะพรรคอันดับ 1-2 อยู่ฝ่ายเดียวกัน เชื่อ ทุกคนให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจากฝ่ายใด พรรษามากน้อยไม่เกี่ยว
วันนี้ (23 มิ.ย.) นายชวน หลีกภัย ในฐานะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้ารายงานตัวเป็น ส.ส. ต่อรัฐสภา พร้อมได้ตอบคำถามกับสื่อมวลชนถึงความไม่ลงตัวของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ว่า คงไม่น่ามีปัญหา หรือความวุ่นวาย โดยทั่วไปแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลพรรคที่เป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยจะอยู่คนละฝ่ายกัน แต่คราวนี้ พรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งและอันดับ 2 อยู่ฝั่งเดียวกัน จึงมีปัญหาเรื่องการแย่งตำแหน่ง
“การเป็นประธานสภา ไม่ได้สร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการบริหารกฎหมาย เพราะประธานต้องเป็นกลาง เว้นแต่ประธานบางคนในอดีตที่มีปัญหา เนื่องจากฟังคำสั่งของรัฐบาลให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
เมื่อถามว่า ความกังวลของพรรคก้าวไกล คือ กลัวประธานสภาจะไม่บรรจุวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นายชวน ชี้แจงว่า หน้าที่ส่วนนี้ เป็นของ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาคนที่ 1 เป็นผู้พิจารณาเรื่องระเบียบวาระ ซึ่งคราวนั้น มีความเห็นว่า ร่างแก้ไขดังกล่าว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จึงส่งคืนกลับไปให้แก้ไข แต่ผู้เสนอญัติไม่ได้แก้ จึงไม่ได้บรรจุ ซึ่งตนก็เห็นว่า นายสุชาติ วินิจฉัยได้รอบคอบ นั่นเป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียว แต่กฎหมายฉบับอื่นไม่มีปัญหา แม้จะเป็นกฎหมายจากภาคประชาชน สภาก็ดูแลอย่างดี และเร่งรัดให้ด้วยซ้ำไป
นายชวน ยังมองถึงการทำหน้าที่ของประธานสภา หากมาจากพรรคก้าวไกล ว่า ยังพูดไปก่อนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจย์ของเจ้าหน้าที่รัฐสภา ว่า จะผลักดันการแก้ไข มาตรา 112 ได้หรือไม่ และต้องดูว่า ผู้ใดเป็นคนเสนอมา หากรัฐบาลเป็นผู้เสนอ สภาก็จะพิจารณา เพราะรัฐบาลต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือบริหาร
เมื่อถามถึงความพร้อมการทำหน้าที่ประธานสภา ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องให้ความร่วมมือช่วยประธานสภาทำงาน เพราะเหนือสิ่งอื่นใด คือ การรักษาระบบ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ เชื่อว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ
เมื่อถามว่า ตามมารยาทควรเสนอคนข้ามพรรคมาเป็นประธานสภา ได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งประธานสภา แม้จะได้ลำดับ 4-5 แต่มีการขอให้ตนรับตำแหน่งประธานสภา โดยไม่ตัดโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีออก ซึ่งในช่วงแรกตนปฏิเสธ แต่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ได้เกี่ยง แต่ต้องยอมรับว่า คราวที่แล้วมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาเยอะที่ยังไม่คุ้นกับระเบียบกฎเกณฑ์ เราจึงต้องช่วยกันประคับประคองในฐานะประธานสภาและรองประธานสภา
“ผมคิดว่า ข้อขัดแย้งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ที่สำคัญ คือ ต้องทำให้ระบบนิติบัญญัติ เดินต่อไปได้โดยปกติ เราผ่านประสบการณ์มา 4 ปี ได้รู้อะไรพอสมควร ต่อไปนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คงจะค่อยดีขึ้นตามลำดับ แม้คราวนี้จะมีสมาชิกใหม่เยอะ แต่สมาชิกก็ผ่านประสบการณ์มาแล้ว 4 ปี จึงไม่น่าจะมีปัญหา และไม่ว่าประธานสภา จะมาจากฝ่ายใด เชื่อว่า ทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายชวน กล่าว