xs
xsm
sm
md
lg

“พิชาย” เทียบคำพิพากษาเก่า มั่นใจ “พิธา” รอดคดีถือหุ้นสื่อ itv

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เทียบเคียงบรรทัดฐานเก่า ชี้ 3 เหตุผล “พิธา” รอดคดีถือหุ้นสื่อ 1) เป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้ครอบครองหุ้น ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2) ตามข้อเท็จจริง ไอทีวีก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อแล้วตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และ 3) สัดส่วนหุ้นที่ก็น้อยมาก ซึ่งไม่สามารถครอบงำได้

วันนี้ (17 มิ.ย.) รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเป็นประธานคณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตย (ครป.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้น itv โดยระบุว่า คดีหุ้น itv จบแล้ว

1.   นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดก หุ้น itv เป็นของกองมรดก ไม่ใช่ของนายพิธา แม้ว่านายพิธาเป็นหนึ่งในทายาท แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้แบ่งมรดกส่วนนี้ให้ใคร ก็หมายความว่า ยังไม่มีทายาทคนใดเป็นเจ้าของหุ้นนี้ ดังนั้น ที่ผ่านมา จะถือว่านายพิธาครอบครองหุ้นไม่ได้ (ปัจจุบันหุ้นส่วนนี้ได้โอนให้ทายาทคนอื่นไปแล้ว)

2.  แม้อาจมีใครที่ตีความว่า นายพิธา ถือหุ้นสื่อ และส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจยกคำร้องด้วยเหตุผลในข้อ 1

แต่ถ้ารับคำร้อง นายพิธา ก็ยังคงมีโอกาสรอดสูง เพราะบรรทัดฐานของคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีความสอดคล้องกัน ดังนี้

“#การที่จะพิจารณาว่า บุคคลใดเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น #ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง หรือไม่ นั้น #จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่า บริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ #มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น”

ศาลรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม 2563 ก็พิพากษากรณีถือหุ้นสื่อของ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ตามแนวนี้

และใน#คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 963/2565 (#ประชุมใหญ่) ระบุชัดว่า

“การพิจารณาวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมีมติว่า #บริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม #กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”( เพจบรรทัดฐานคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ 7 มิถุนายน 2566)

3. ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม 2566 กรณีถือหุ้นสื่อของ นายชาญชัย ผู้สมัคร ส.ส. จ.นครนายก พรรค ปชป. ศาลฎีกาก็ใช้แนวทางนี้ และยังได้นำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาร่วมวินิจฉัยด้วย นั่นคือ หากถือหุ้นในสัดส่วนน้อย จะไม่สามารถครอบงำสื่อได้ จึงคืนสิทธิการสมัคร ส.ส.แก่นายชาญชัย

4. ด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงทำให้ขบวนการสกัดนายพิธา พยายามที่จะรื้อฟื้นความเป็นสื่อแก่ itv โดยหวังว่าจะเพิ่มน้ำหนักแก่ข้อกล่าวหา แต่ก็ถูกเปิดโปงเสียก่อน จนทำให้หลักฐานที่พยายามสร้างเพื่อแสดงความเป็นสื่อของ itv สูญสิ้นความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง

5. และถึงแม้ว่าจะรื้อฟื้นความเป็นสื่อได้ ก็ยังต้องเจอกับคำตัดสินล่าสุดของศาลฎีกาที่ยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะหุ้นที่อ้างว่านายพิธาถือครองนั้นมีสัดส่วนเพียงประมาณ 0.0035% เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถมีอิทธิพลใดๆ ต่อการครอบงำไอทีวีแต่อย่างใด

6. สรุปนายพิธาก็จะรอด เพราะ 1) นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ได้ครอบครองหุ้น ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2) ตามข้อเท็จจริง ไอทีวีก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อแล้วตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา 3) สัดส่วนหุ้นที่ก็น้อยมาก ซึ่งไม่สามารถครอบงำได้
คดีหุ้นสื่อ ไอทีวีจึงจบลงด้วยประการฉะนี้

คาดว่า กกต.คงจะยุติการดำเนินการตามมาตรา 151 ในไม่ช้า

และคาดว่า คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงเอาเรื่องนี้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือ ส.ส. เพราะหากยื่นอาจเข้าข่ายการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และหากนำเอกสารที่พยายามรื้อฟื้นความเป็นสื่อให้แก่ไอทีวียื่นเป็นหลักฐานต่อศาล อาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องกลับตามมาตรา 143 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และดีไม่ดีต้องจบชีวิตในคุก

ส่วนคนที่ใช้กฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อขู่ให้ กกต. ยื่นเรื่องก็รอดตัวไป เพราะได้โยนเผือกร้อนไปให้ กกต. ไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น