xs
xsm
sm
md
lg

“วิโรจน์” ชี้ แก้ปัญหาโกงข้าวกลางวัน นร.ต้องอาศัยหลายปัจจัย เชื่อทุกคนช่วยให้ “หยก” ได้เรียนต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล มอง การแก้ปัญหาโกงข้าวกลางวันนักเรียน ต้องอาศัยหลายปัจจัย มีความซับซ้อน ต้นตออยู่ที่การจัดสรรงบ เชื่อ ทุกคนกำลังพยายามช่วยให้ “หยก” ได้เรียนต่อ แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์


วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบการทุจริตอาหารกลางวันของนักเรียน ว่า เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนการแก้ไขเพียงเรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียวไม่สำเร็จ เพราะที่มาของปัญหา คือ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลตามมติของคณะรัฐมนตรี งบประมาณอาหารกลางวันต่อหัว อยู่ที่ 22-36 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียน หากหักค่าวัตถุดิบต่างๆ ก็แทบไม่เหลือค่าแรงให้แม่ครัว

นายวิโรจน์ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียน 1,000 คน ขึ้นไป จะไม่มีปัญหานี้ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียน 300-400 คน จะเหลืองบ 27 บาทต่อหัว และถ้ามีนักเรียน 100-120 คน ก็จะได้ 22 บาทต่อหัว จึงต้องตั้งคำถามว่า งบประมาณต่อหัวเพียงพอ ต่อต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงของแม่ครัวหรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยคือ บางโรงเรียน เช่น โรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งให้นักเรียนมัธยมมาร่วมทานอาหารกลางวันกับนักเรียนชั้นประถม ถึงแม้จะผิดกฎระเบียบ แต่ด้วยความขาดแคลนจึงต้องทำ ซึ่งก็ต้องมารับประทานอาหารที่เหลือจากน้อง เพราะตามระเบียบแล้ว ไม่สามารถรับประทานพร้อมกันได้ งบประมาณต้องไปเจียดให้กับเรื่องนี้ ซึ่งไม่เพียงพอ

นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยว่า มีอุปสรรคจากกฎระเบียบ ทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อจัดซื้อจัดจ้างได้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง (อปท.) ก็มาอุดหนุนไม่สะดวกนัก เพราะมีปัญหาเนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินที่ปรับลดลง 90% ทำให้ตอนนี้รัฐบาลติดหนี้ค้างจ่าย อปท. ทั่วประเทศ และกรุงเทพฯค้างอยู่ 30,000 ล้านบาท ก็ยังไม่มีแผนชำระคืน

“หลังจัดการเรื่องงบประมาณเสร็จแล้ว ผมต้องมาดู เรื่องความโปร่งใสต่างๆ เพราะการทุจริตอาหารกลางวันมีโทษหนัก ไม่ใช่เพียงโทษทางกฎหมาย โทษทางสังคมก็หนัก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ การโกงอาหารกลางวันคือการทำลายอนาคตของชาติ” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ ยังได้ให้ความเห็นในกรณีของ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่มีปัญหาถูกทำให้พ้นสภาพความเป็นนักเรียน ว่า ตนคิดว่ากำลังอยู่ในกระบวนการ กำลังแก้ไข หารือ หาทางออก ด้วยการพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นทางออกที่ถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ นายวิโรจน์ มองว่า การที่คนฝ่ายหนึ่งที่มีข้อมูลอีกแบบหนึ่ง แล้วมาพูดต่ออีกแบบ ตนว่าไม่เกิดประโยชน์ แต่ตนเชื่อว่า ทุกคนพยายามทำให้นักเรียนรวมถึงคุณหยก ได้เรียนอยู่แล้ว ติดขัดตรงไหนก็ต้องคุยกัน

“ต้องพูดคุยกัน ถ้าเรายังตอบคำถามแบบปิงปองแบบนี้ การแก้ปัญหาจะไม่เกิด เราควรเปลี่ยนให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า เพราะว่าจุดยืนคือนักเรียนทุกคนต้องได้รับการเรียนหนังสือ”


กำลังโหลดความคิดเห็น