xs
xsm
sm
md
lg

จ่อผุดทางลอด “เต่านา-กบหลังไพล” ตามแนวทางหลวงเลี่ยงเมืองสกลฯ 29 กม.มูลค่าโครงการ 2 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จ่อผุดทางลอด “เต่านา-กบหลังไพล” พร้อมสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตร ตามแนวทางหลวง “เลี่ยงเมืองสกลนคร” (ด้านทิศตะวันออก) มูลค่าทั้งโครงการกว่า 2 พันล้าน หลังผ่าน EIA ระยะ 29.813 กม. เผย ติดพื้นที่อ่อนไหว แหล่งโบราณสถานโบราณคดี ตลอดแนวโครงการ รัศมี 1 กม. มากกว่า 16 แห่ง

วันนี้ (14 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ ได้รับทราบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สวล.)

โดยเฉพาะ โครงการทางเลี่ยงเมืองสกลนคร (ด้านทิคตะวันออก) ของกรมทางหลวง งบประมาณก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท

รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบุโครงการตั้งอยู่ที่อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร

มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 22 กม. 174+800 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร บริเวณทางแยกไปอำเภอโพนนาแก้ว

และจุดสิ้นสุดโครงการ ที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ บรรจบทับทางหลวงหมายเลข 223 บริเวณ กม. 21+ 731 รวมระยะทาง 29.813 กิโลเมตร

รูปแบบถนนโครงการ เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างเขตทาง 80 เมตร โครงสร้างสะพาน ประกอบด้วย ทางลอดแบบสะพานความยาว 60 เมตร จำนวน 4 แห่ง

ทางลอดแบบสะพานความยาว 10 เมตร จำนวน 6 แห่ง สะพานข้ามคลอง จำนวน 4 แห่ง รูปแบนจุดกลับรถของโครงการ 2 รูปแบบ

ประกอบด้วย จุดกลับรถใต้สะพาน จำนวน 3 แห่ง จุดกลับรถแบบ (ยู-เทิร์น) จำนวน 4 แห่ง

“ไฮไลต์ของโครงการจะมีทางลอดสำหรับสัตว์ ทางลอดของสัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตร จำนวน 6 แห่ง และทางลอดสำหรับ “เต่านา และกบหลังไพล” จำนวน 3 แห่ง”

ทั้งนี้ โครงการจะมีพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ แหล่งโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี เนื่องจาก “แนวเส้นทางโครงการ” มีแหล่งโบราณสถานที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร

ซึ่งเป็นโบราณสถาน ที่ยังไม่ประกาศขึ้นทะเบียน จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดี 6 แห่ง และแหล่งศิลปกรรม 14 แห่ง

อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ตามแนวเส้นทางโครงการในช่วง กม. ที่ 13+800 อยู่ห่างพื้นที่ชุ่มนํ้าที่มีความสำคัญ ระดับนานาชาติ คือ พื้นที่ชุ่มนํ้าหนองหาร ประมาณ 479 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ

และ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ แนวเส้นทางโครงการตัดผ่านพื้นที่ป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จำนวน 73.72 ไร่

มีการคาดการณ์ว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้าง ในปี 2565 ในพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ

โดยเส้นทางโครงการบางช่วงที่ตัดผ่านย่านชุมชนและทางหลวงท้องถิ่น โครงการนี้ จะมีการเวนคืนที่ดิน 616 แปลง บ้านเรือน 12 หลัง เนื้อที่รวม 1,460 ไร่.


กำลังโหลดความคิดเห็น