ครม. รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 /2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยมีการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1/2566 ดังนี้
1. เศรษฐกิจโลก : เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงส่งของภาคบริการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยุโรป และเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประเทศเศรษฐกิจหลักยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวด เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
2. เศรษฐกิจไทย : มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ 28 ในปี 2566 และ 35 ล้านคน ในปื 2567 การบริโภคของภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีตามของอุปสงค์โลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
3. ภาวะการเงิน โดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อนเนื่องจากการประกาศเปิดประเทศของจีนและการคาดการณ์ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย
ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมอย่างมีเสถียรภาพแต่ต้องติดตามพัฒนาการตลาดการเงินโลกและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ต้องสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ภซึ่งมติ กนง. ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี