xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ปลื้มความสำเร็จ “ไซทิซีน” ยาเม็ดเลิกบุหรี่ เริ่มจำหน่ายต้นปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ชื่นชมความสำเร็จภาครัฐ องค์การเภสัชฯ ร่วมมือคณะแพทยศาสตร์ มศว วิจัยพัฒนายาเม็ด “ไซทิซีน” ยาเลิกบุหรี่ ช่วยผู้ติดบุหรี่เข้าถึงยาเลิกสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ คาด ผลิตจำหน่ายได้ต้นปี 2567

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความสำเร็จของหน่วยงานภาครัฐ โดยองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ได้วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ คือ ยาเม็ด ไซทิซีน จีพีโอ (1.5 มิลลิกรัม) เป็นรายแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการช่วยผู้ที่ติดบุหรี่ได้เข้าถึงยาเลิกสูบบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร ถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจ ฯลฯ ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการวิจัยพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศ รวมถึงการวิจัยพัฒนาในเรื่องของยาและด้านการแพทย์ด้วยเพื่อให้ประชาชนในประเทศไทยได้สามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ถึง 9.9 ล้านคน และเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร ถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย มียา 5 รายการ ที่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ ได้แก่ ยาเม็ด Varenicline ยาเม็ด Bupropion นิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy) ยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว ปัจจุบันมีเพียงยา 2 รายการ ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาเม็ด nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว ดังนั้น การที่องค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ คือ ยาเม็ด ไซทิซิน จีพีโอ ที่มีคุณภาพดีและราคาถูก ผลิตได้เองในประเทศไทย จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการเลิกบุหรี่ในประเทศที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

“สำหรับยาเม็ดไซทิซีน จีพีโอ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ ผลการวิจัยมีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลดี ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดย พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ให้ข้อมูลระบุว่า หากเปลี่ยนมาใช้ยาเม็ดไซทิซีน จีพีโอ ในการรักษาแทนการรักษาในปัจจุบันที่ใช้ยาเม็ด Varenicline จะทำให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต่อคอร์สและลดระยะเวลาในการรักษาได้ 3-4 เท่า รวมทั้งลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี โดยองค์การเภสัชกรรม จะเริ่มผลิตจำหน่ายยาในเดือนมกราคม 2567” นายอนุชา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น