แพทย์ห่วงโรคอิวารี่หรือปอดอักเสบสัมพันธ์กับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ยังหลุดการวินิจฉัย เหตุไม่มีซักประวัติสูบ โดยเฉพาะใช้ร่วมน้ำมันกัญชา หากคนสูบมากขึ้นจะพบโรคมากขึ้น ชี้รักษายากกว่าบุหรี่มวน เหตุนิโคตินสูงกว่า 80% เป็นนิโคตินสังเคราะห์ ดูดซึมได้ดีกว่า ยิ่งผสมกลิ่นทำให้ติดง่าย สูบมากสูบนานยิ่งเลิกยาก ระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและกระเพาะปัสสาวะหลังมีการพบในหนู
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือโรคอิวารี่ ในประเทศไทยยังมีแบบประปราย และอาจมีการหลุดวินิจฉัย เนื่องจากแพทย์จำนวนมากยังไม่ได้ให้ความสำคัญ และมีการวินิจฉัยน้อยมากทั้งที่จริงมีการป่วยเช่นนี้อยู่ เพราะไม่ได้ซักประวัติเรื่องการใช้ "บุหรี่ไฟฟ้า" โดยเฉพาะการใช้น้ำมันกัญชา ซึ่งโรคอิวารี่จะเจอเยอะกรณีใช้บุหรี่ไฟฟ้าผสมน้ำมันกัญชา ทั้งนี้ เชื่อว่าในประเทศไทยมีการใช้แบบนี้ แต่ยังไม่นิยมหรือปอปปูลาร์เท่าต่างประเทศ เมื่อไรที่ปอปปูลาร์ก็จะเห็นโรคอิวารี่เต็มไปหมด ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่น่ากังวลมาก เป็นชนวนระเบิดที่รอคนมาจุดและยังไม่มีใครตัดชนวน อย่างไรก็ตาม อาการป่วยที่พบมากในผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามักมาด้วยอาการโรคหืด ถุงลอมโป่งพอง และภูมิแพ้
"ผู้ที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าจะรักษายากและใช้เวลานานกว่าผู้ที่ติดบุหรี่ซิกาแรตหรือบุหรี่ธรรมดา ผมมีคนไข้หลายคนพูดว่า เขาอยากเลิกบุหรี่มวน ไม่ได้อยากจะสูบบุหรี่ไฟฟ้า คืออยากเลิกทั้งหมด แต่ได้ยินมาว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เลิกบุหรี่มวนได้ จึงนำมาใช้เพื่อเลิกบุหรี่มวน และสักพักก็จะหยุดบุหรี่ไฟฟ้าได้ แต่ปรากฏว่า เลิกบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ ต้องมาหยุดบุหรี่ไฟฟ้าแทนซึ่งก็ยากกว่าเลิกบุหรี่มวน สิ่งที่ทำให้เลิกได้ยากกว่า คือ ปริมาณนิโคติน เนื่องจากได้ปริมาณนิโคตินสูงมากในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่ละครั้ง ที่สำคัญยังเป็นนิโคตินสังเคราะห์คนละตัวกับนิโคตินธรรมชาติ โดยพบว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า 80% เป็นนิโคตินสังเคราะห์ ซึ่งการดูดซึมดีกว่าเดิมมาก แล้วมีการปรุงแต่งกลิ่นรสทำให้คนคุ้นชิน ลดการระคายเคือง ลดความฝืดเฝื่อนของนิโคตินตามธรรมชาติลง ทำให้คนสูบง่าย หอม มีแรงจูงใจอื่นๆ ทำให้คนละออกจากตรงนี้ยากมาก" รศ.นพ.สุทัศน์กล่าว
รศ.นพ.สุทัศน์กล่าวว่า เท่าที่เคยรักษาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า บางคนบอกว่าสูบวันหนึ่งประมาณ 2-3 หลอด สูบทั้งวันไม่มีเบรก นั่งทำงานสูบตั้งแต่กลางวันยันกลางคืน แบบนี้จะเลิกได้ยากมาก โดยรายนี้พบว่ามีอาการภูมิแพ้ หอบหืด ควบคุมโรคไม่ได้ ซึ่งการรักษาแต่ละรายใช้เวลานานและใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นกับการสูบมากหรือสูบน้อย ซึ่งการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของคนไทยขณะนี้ยังมีความหลากหลาย ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน บางคนสูบไม่เยอะ แบบนี้ยังพอไหว แต่บางคนสูบเยอะ แบบนี้จะเลิกยากมาก ซึ่งการเลิกบุหรี่ไฟฟ้าก็จะเหมือนกับบุหรี่ธรรมดา มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่เหมือนกัน แต่หากติดนิโคตินมากก็จะมีการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่หรือนิโคตินสังเคราะห์ หากเลิกได้อาการต่างๆ ก็จะลดลง สีหน้าสีตาดีขึ้นชัดเจนเหมือนคนฟื้นไข้ สำหรับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาวยังไม่มีใครรู้ว่าผลเป็นอย่างไร เวลาจะบอกเราว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่เริ่มมีข้อมูลว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าระยะยาวสามารถเกิดมะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ในหนู ส่วนในคนต้องรออีก 10-20 ปีจึงจะชัดเจนเพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่นาน