“ธีระชัย” เผยบทความเขียนโดยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกันเมื่อปี 2015 ระบุสหรัฐฯ เช่าพื้นที่อู่ตะเภาจากเอกชนที่เช่าจากรัฐบาลไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงใหญ่ในการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน วอนนายกฯ ช่วยตอบเป็นความจริงหรือไม่
วันนี้(4 มิ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หัวข้อเรื่อง “ฐานทัพสหรัฐ?” มีรายละเอียด ระบุว่า ภายหลังจากสหรัฐเป็นมหาอำนาจโลกอันดับหนึ่ง สหรัฐทำสงครามนอกประเทศหลายครั้ง จึงต้องวางฐานทัพไว้หลายจุดในโลก
รูป 1 แสดงดุลอำนาจทางทัพเรือที่กำลังเปลี่ยนแปลง หนีออกจากสหรัฐ โดยอิหร่านจะจับมือกับซาอุดิ ยูเออี และโอมาน ทัพเรือจะร่วมกันทำงานในน่านน้ำตะวันออกกลาง
รูป 2 ยูเออี ก็เพิ่งประกาศถอนตัวออกจากความร่วมมือ 38 ประเทศที่สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี โดยไม่บอกเหตุผล
สำหรับประเทศไทย สหรัฐเคยมีฐานทัพหลายแห่ง เพื่อทำสงครามเวียดนาม นายกรกิจ ดิษฐาน เผยแพร่ในเฟซบุคว่า
"รัฐบาลพลเรือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับใช้วิถีทางทางการทูต โดยรัฐบาลพลเรือนของ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ .. เจรจากับสหรัฐให้ถอนตัวออกไป แล้วเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ"
รูป 3-4 สหรัฐรายงานการถอนตัวในปี 1977 ว่า ในเดือน มี.ค. 1975 สหรัฐมีทหารอยู่ในไทย 27,000 นาย กระจายอยู่ 6 ฐานทัพและสถานที่อื่นๆ ต่อมา ในปี 1976 ลดเหลือเพียง 250 นาย
ดังนั้น ผมจึงแปลกใจ ที่มีข่าวว่า ในขณะนี้ รัฐบาลไทยมีการยอมให้สหรัฐใช้สถานที่
รูป 5-6 บทความปี 2015 เขียนโดยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกัน ระบุว่า กองทัพสหรัฐเช่าใช้สนามบินอู่ตะเภา โดยเช่าอีกทอดหนึ่ง จากบริษัทเอกชนที่เช่าจากรัฐบาลไทย
เพื่อจะเปิดทางให้ทั้งสองรัฐบาลสามารถพูดได้เต็มปากว่า ไม่มี "ฐานทัพสหรัฐ" ในไทย และไม่มีข้อตกลงระหว่างสองรัฐบาล
และสหรัฐใช้สนามบินนี้เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงใหญ่ ในการทำสงคราม กับอิรัค และอัฟกานิสถาน
รูป 7-8 ระบุถึงการใช้ 2 สถานที่ในไทย คือ หนึ่ง สนามบินอู่ตะเภา สอง ท่าเรือสัตหีบ
โดยระบุว่า สนามบินอู่ตะเภา เป็น Lily Pad (หรือบ่อเลี้ยงบัว ที่กบใช้เป็นฐานกระโดดไปสู่เป้าหมาย) ส่วนท่าเรือสัตหีบนั้น ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลคอนเฟิร์ม
Lily Pad ขยายความว่า Lily Pad/Small Base = A small military installation, including a base site counted in the Pentagon's annual Base Structure Report as an unnamed "other site," which by the Pentagon's definition are sites consisting of less than 10 acres or a value of less than $10 million.
กล่าวคือ เป็นฐานขนาดเล็ก ที่ไม่เปิดเผยชื่อเฉพาะในรายงานกลาโหมสหรัฐ
ข้อมูลเหล่านี้ มีการยืนยันในเอกสารของรัฐบาล
รูป 9-10 รายงานอินโดแปซิฟิกของกระทรวงกลาโหม ปี 2019 บรรยายความสำคัญของไทยไว้อย่างสูงว่า
"ไทยเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐ ที่อยู่ศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมเอเซียใต้กับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ไทยจึงเป็นยุทธภูมิที่สำคัญสำหรับพื้นที่อินโดแปซิฟิก
การที่กองทัพสหรัฐสามารถใช้สถานที่สนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบประกอบกัน เป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่ทำให้พลังอำนาจของกองทัพสหรัฐสามารถเบ่งรัศมีออกไปในภูมิภาคต่างๆ ได้"
เนื่องจากประชาชนคนไทยสนใจ แต่ผมไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้
ผมจึงขอเชิญชวนให้ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่า
1 รัฐบาลไทยมีการนำสนามบินอู่ตะเภา ออกให้เช่าแก่บริษัทเอกชน แล้วบริษัทนั้นนำไปให้เช่าต่อแก่สหรัฐ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ทางการทหารได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จริงหรือไม่?
เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด? บริษัทเอกชนชื่ออะไร? ใครเป็นเจ้าของ? สัญญาเช่ามีรายละเอียดอย่างไร? มีการต่ออายุกี่ครั้ง?
2 กองทัพสหรัฐมีการใช้งานสนามบินอู่ตะเภา แต่ละปี จำนวนครั้งจำนวนเที่ยวบินเป็นอย่างไร? และใช้เพื่อการใด? มีกองทัพชาติอื่นใช้งานด้วยหรือไม่?
3 การดำเนินการที่มีผลเป็นการเปิดให้กองทัพต่างชาติสามารถใช้สนามบินอู่ตะเภาได้ นั้น เป็นการดำเนินการที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่?
4 มีการดำเนินการทำนองเดียวกัน กับท่าเรือสัตหีบ หรือไม่?
วันที่ 4 มิถุนายน 2566
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และเป็นความเห็นส่วนตัว มิใช่ของพรรคการเมือง