ขีดเส้น 7 มิ.ย. เร่ง 2 หน่วยงานมหาดไทย "ปค.-สถ." แสดงความเห็น "ครั้งที่ 2" ร่างกฎหมายใหม่คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับ กรมควบคุมโรค เน้นคุมโฆษณาเหล้า-เบียร์ เปิดบทลงโทษแรง ฟันทั้งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า รวมถึงคุมผู้ประกอบการ เฉพาะมาตรา 34 (1) ให้อำนาจ จนท. เข้าตรวจค้นสถานที่ แบบจัดเต็มคาราเบล "ตลอดในเวลาทำการของสถานที่นั้น"
วันนี้ ( 4 มิ.ย.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือถึงกรมการปกครอง (ปค.) และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) โดยเร่งให้ 2 หน่วยงานในฐานะผู้เกี่ยวข้องให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ... ภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2566
ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่ม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ที่มีความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
"เปิดรับฟังความคิดเห็น "ครั้งที่ 2" ให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย/สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิต/ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมาคมผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ประกอบการ ผู้จำหน่ายสุรา ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ ภาคประซาสังคม (NGOs) นักวิชาการ ส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป"
ร่วมแสดงความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายอย่างรอบด้านต่อไป หลังจากรับหนังสือจาก สธ. ลงวันที่ 25 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา"
สำหรับ แบบรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ให้ ติ๊กเครื่องหมายถูก ว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" และเปิดให้แสดงความเห็น ใน 7 ประเด็น
1. สมควรกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่
2. สมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
ที่จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือแจ้งเตือนรวมถึงควบคุมดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
3. สมควรกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ได้ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องรับผิดหรือไม่
4. สมควรกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
5. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าพันบาท สำหรับผู้ฝ่าฝืนที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
6. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินสามหมื่นบาท สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ไม่ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
7. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่
โดย ส่งแบบแสดงความคิดเห็นไปยังสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 88/21 อาคาร 3 ชั้น 1 กรมควบคุมโรค ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือ โทรสาร 0 2590 3035 ต่อ 111 หรือ kpk2553@hotmail.com ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
สามารถข้อสงสัยติดต่อ กลุ่มพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 0 2590 3015
ทั้งนี้ สาระสำคัญกฎหมายใหม่ 1.กำหนดเวลาห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/1)
2.กำหนดให้ผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งเตือนการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด รวมถึงมีหน้าที่ควบคุม ดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าว (ร่างมาตรา 22 เพิ่มมาตรา 31/2)
3.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่ที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น (ร่างมาตรา 27 เพิ่มมาตรา 34 (2))
4.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31/1 และมาตรา 31/2 (ร่างมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 39/1 และมาตรา 39/2)
และ 5.กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34/6 (ร่างมาตรา 33 เพิ่มมาตรา 44/1)
โดย มีประเด็น เรื่องของการให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 34) ที่มีมากขึ้น หรือเป็นการเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นสถานที่
จากเดิมการตรวจค้นตามประมวลกฎหมายอาญาจะต้องมีหมายค้น และต้องเข้าไปตรวจค้นในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตก แต่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดไว้เพียงว่า “ในเวลาทำการของสถานที่นั้น” (มาตรา 34 (1))
หรือในส่วนของการโฆษณา (มาตรา 32) ก็จะเป็นในลักษณะการห้ามโฆษณาแบบเด็ดขาดมากขึ้น เช่น มาตรา 32/1 เป็นการห้ามโฆษณา ชื่อ เครื่องหมายการค้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อชักจูงผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนมาตรา 32/2 จะกระทบกับน้ำดื่ม โซดา ที่ใช้ชื่อ (แบรนด์) หรือโลโก้ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
มาตรา 32/2 ห้ามผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น หรือโฆษณาโดยการนำเอาชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตัด ต่อเติม หรือดัดแปลงข้อความให้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้น
ทั้งในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าหมายความถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
มาตรา 32/3 ห้ามผู้ใดให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชน ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการสร้างภาพลักษณ์ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(2) ที่ส่งผลหรือที่อาจส่งผลเสียต่อนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(3) โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือโฆษณาตามมาตรา 32/2
(4) ส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(5) ลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม
มาตรา 32/4 ห้ามผู้ใดเผยแพร่กิจกรรมหรือข่าวสาร เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมตามมาตรา 32/3
มาตรา 34 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น รวมถึงการเข้าตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เรียกขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่นใด ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ และปรากฏรูปถ่ายของผู้ถือบัตรเพื่อบันทึกข้อมูล ในกรณีที่มีการกระทำความผิดหรือกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
(3) ตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานหรือวัตถุอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี
(4) ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
(5) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
มาตรา 43 หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 หรือมาตรา 32/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
หากกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำของผู้ผลิต ผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินวันละห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค เคยทำแบบสอบถามแสดงความคิดเห็น "ครั้งแรก" ปี 2564 แต่ไม่มีการเปิดเผย.