“ทนายเชาว์” จวก “โรม” ให้ร้ายศาล บิดเบือนกระบวนการพิจารณาคดี 112 ของว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล เปิดความจริง “ชลธิชา” ตั้งทนายสองคน รู้ล่วงหน้า คดีเลื่อนพิจารณาเร็วขึ้น ตามกฎหมายใหม่ สงสัยทนายคนหนึ่งไม่ว่าง ทำไมไม่ให้อีกคนทำหน้าที่แทน แถมปฏิเสธ ไม่ซักค้านเอง ทั้งที่ศาลเปิดทางให้ เชื่อ จงใจทำลายความน่าเชื่อถือ หวังสั่นคลอนอำนาจตุลาการ ถาม กาก้าวไกล ประเทศไทย ไม่เหมือนเดิม แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์-อำนาจตุลาการจะเหมือนเดิมมั้ย
วันนี้ (3 มิ.ย.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเรื่อง ถึง ก้าวไกล ก้าวให้ตรง อย่าให้ร้าย “ศาล” มีเนื้อหาระบุว่า ได้อ่านข่าวกรณีที่ นายรังสิมันตุ์ โรม ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีศาล คดีที่ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี จำเลยคดีมาตรา 112 กล่าวหาว่า ศาลสั่งสืบพยานโดยไม่มีทนายความ ทำลายความยุติธรรม ด้วยน้ำมือของผู้พิพากษา ถึงขั้นจะปฏิรูปศาลเมื่อสภาเปิด แล้วไม่สบายใจ เพราะคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้เรื่องระบบการพิจารณาคดีของศาลได้ฟัง นายรังสิมันต์ โรม แล้วอาจหลงเชื่อคล้อยตามเข้าใจว่า ศาลโหดร้าย ไม่ยุติธรรม ตามที่ นายรังสิมันต์ โรม ต้องการบิดเบือน ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของอำนาจฝ่ายตุลาการซึ่งทำมาต่อเนื่อง นายรังสิมันต์ โรม อาจจะตบตาชาวบ้านให้หลงเชื่อคล้อยตามด้วยเจตนาแอบแฝงอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่สามารถตบตาคนที่เข้าใจกระบวนการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะทนายความที่ว่าความจริงๆ อย่างผมได้ เพราะความจริงแล้ว การนัดพิจารณาของศาลโดยเฉพาะการสืบพยานโจทก์-จำเลย คู่ความทุกฝ่ายต้องกำหนดวันนัดและลงชื่อทราบนัดกันก่อนล่วงหน้า โดยทั่วไปจะมีระยะเวลาห่างจากวันกำหนดนัดไม่ต่ำกว่าหนึ่งถึงสองเดือน
นายเชาว์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า คดีนี้มีการฟ้องคดีตั้งแต่ปี 2565 คู่ความทั้งสองฝ่ายได้กำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ต่อมาหลังจากมีพระราชบัญญัติกาหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้ รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ศาลก็ต้องปฏิบัติตามโดยประธานศาลฎีกาได้ออก ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ปี 2566 กำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้อง การดำเนินการ เวลาพิจารณาพิพากษาคดี ขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้เผยแพร่ในรูปแบบที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจ ตรวจสอบได้โดยง่าย มีบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 คดีไหนที่นัดกันไว้ก่อนเป็นระระเวลาที่ยาวไกลเกินไปก็จะมีการกำหนดนัดกันใหม่เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายใหม่ เช่นเดียวกับคดีนี้ที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ศาลเห็นว่านานไป จึงมีการกำหนดวันนัดใหม่ ให้เร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ศาลถือปฏิบัติเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะคดีนี้ อีกทั้งก็ไม่ใช่ว่าศาลจะนัดเองได้ตามอำเภอใจ คู่ความทั้งฝ่ายโจทก์จำเลยโดยเฉพาะทนายความทั้งสองคนของนางสาวชลธิชาก็ทราบนัดก่อนแล้ว แต่พอถึงวันนัดสืบพยาน นางสาวชลธิชา กลับขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่า ทนายติดว่าความที่ศาลอื่น แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้ จำเลยได้แต่งตั้งทนายความไว้สองคน หากคนใดคนหนึ่งติดว่าความความที่ศาลอื่น อีกคนหนึ่งย่อมทำหน้าที่ได้ แต่ทนายอีกคนหนึ่งกลับไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ องค์คณะผู้พิพากษาได้ปรึกษาอธิบดีศาลอาญาแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ให้สืบพยานตามที่นัดไว้ โดยใช้ระบบบันทึกภาพและเสียงไว้เป็นหลักฐาน และยังเปิดโอกาสให้ นางสาวชลธิชา ซักถามค้านพยานในฐานะตัวความด้วยตนเอง แต่นางสาวชลธิชาไม่ซักค้าน กับทั้งศาลยังให้โอกาสให้ทนายจำเลยสามารถซักค้านพยานที่เบิกความไว้แล้ว ในภายหลังที่ทนายจำเลยว่างได้อีกด้วย นางสาวชลธิชา ก็ไม่ยอมรับ แต่กลับยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและร้องต่ออธิบดีศาลอาญาให้เปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา แต่อธิบดีศาลอาญาไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าองค์คณะผู้พิพากษาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยชอบแล้ว
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุอีกว่า สรุปให้ฟังชัดๆ อีกครั้ง ว่า กระบวนการพิจารณาคดีของศาลในกรณีที่มีการออกมาป้ายสีศาลนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 1. ศาลเลื่อนพิจารณาเร็วขึ้น เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่ต้องมีกรอบเวลาพิจารณาให้ชัด 2. คู่ความรู้อยู่แล้ว 3. มีทนายความสองคน คนใดคนหนึ่งติดธุระ อีกคนทำหน้าที่แทนได้ แต่กลับไม่มา 4. ศาลเปิดโอกาสให้นางสาวชลธิชา ซักค้านได้และให้โอกาสทนายซักค้านในนัดหน้าได้ด้วยแต่ไม่ทำ 5. จงใจทำลายความน่าเชื่อถือศาล ด้วยการสร้างเงื่อนไขไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ทั้งๆ ที่กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตนออกมาให้ความเห็นเรื่องนี้ ไม่ใช่จะปกป้องศาล แต่ต้องการให้ทุกคนทราบความจริงที่ถูกปิดเบือน ผิดถูกว่ากันตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง และไม่ใช่จะปกป้องไปทุกเรื่อง อย่างเรื่องที่ นายรังสิมันต์ โรม ตรวจสอบกรณีศาลเพิกถอนหมายจับ ส.ว. อุปกิต ผมก็เห็นด้วยว่าศาลทำไม่ถูกต้อง แต่กรณีนี้ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล นอกจากจะสุ่มเสี่ยงละเมิดอำนาจศาลแล้ว ยังถือว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับว่าที่ ส.ส.ที่กำลังจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย อย่าเอาการพิจารณาคดีของศาลไปบิดเบือนเพื่อเป็นบันไดยกเลิกมาตรา 112 เลย
“พรรคก้าวไกลอ้างฉันทามติได้ ส.ส.มา 151 คน มีโอกาสจะได้บริหารประเทศ ผมดีใจด้วยและว่าตามจริง รอคอยด้วยซ้ำที่จะเห็นว่า จะพลิกโฉมประเทศไทยไปทางไหน กาก้าวไกลแล้วประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอย่างไร แต่สิ่งที่หลายคนอาจกังวลเหมือนผม คือ กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม แล้วสถาบันกษัตริย์จะยังเหมือนเดิมมั้ย ศาลสถิตยุติธรรม จะถูกสั่นคลอนหรือเปล่า เพราะวิธีคิดที่ใช้เสียงข้างมากตัดสินทุกเรื่อง ไม่สามารถนำมาตัดสินความยุติธรรมได้ ไม่อย่างนั้น เราจะเข้าสู่ระบบศาลเตี้ยทันที” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย