“ชลธิชา” ควง “โรม-เจี๊ยบ” พรรคก้าวไกล ยื่น ก.ต.ตรวจสอบผู้พิพากษา อ้างว่า เลื่อนนัดคดีเร็วขึ้น ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล, นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบผู้พิพากษาศาลอาญา อ้างว่า เร่งรัดคดีหมิ่นเบื้องสูง ตาม ป.อาญา มาตรา 112 ที่ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ตกเป็นจำเลยโดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า การถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 มาจากการเขียนจดหมายถึงสถาบันฯ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งในวันนัดพร้อมคดีได้มีการตกลงนัดวันสืบพยานโจทก์-จำเลย โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก เดือน มี.ค. 2567 โดยเหตุผลที่ขอเป็นช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากทนายความของตน ติดว่าความคดีอื่นหลายคดี เเละมีวันว่างในช่วงนั้น
ต่อมาประมาณเดือน ก.ค. 2565 มีเจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาสอบถามทนายความของตน ว่า ในเดือน มิ.ย.และ ส.ค. มีวันว่างหรือไม่ ศาลต้องการนัดสืบพยาน โดยเลื่อนนัดมาให้เร็วขึ้น ทนายความของตนจึงชี้แจงว่าไม่ว่าง เนื่องจากติดภารกิจสืบพยานที่ศาลอื่น
เราจึงแจ้งกับศาลไปแล้วว่า ทนายความของจำเลยไม่สะดวกนัดสืบพยานในคดีนี้ช่วงเดือน มิ.ย.และ ส.ค. 2566 เพราะติดนัดคดีอื่น
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนจึงเดินทางมาที่ศาลคนเดียว เพื่อขอยื่นการเลื่อนนัดสืบพยานเนื่องจากไม่สะดวก แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาในคดี ไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยาน ตนจึงใช้สิทธิในการขอพบผู้บริหารศาล ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลทั่วไป แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ จึงขอใช้สิทธิเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่ศาลเลื่อนนัดสืบพยานเร็วขึ้น
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า ศาลให้เหตุผลว่า เป็นดุลพินิจ หากไม่พอใจให้ไปดำเนินการตามขั้นตอน ทำให้ตนมายื่นหนังสือถึง ก.ต. ในวันนี้ รวมถึงไม่ใช่แค่คดีหมิ่นเบื้องสูง มาตรา 112 ของตนที่ถูกให้เลื่อนเร็วขึ้น แต่ยังมีของคนอื่นอีก 4-5 คดี และไม่มีทนายฝ่ายโจทก์เช่นกัน อย่างคดีของ นายปิยรัตน์ จงเทพ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล ก็พบว่าถูกเลื่อนคดีให้เร็วขึ้น
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า มีหลายคนที่แสดงความกังวลว่าจะกระทบต่อการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราตั้งคำถาม ว่า ตกลงแล้วกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร มีความเป็นธรรมเสมอภาคเท่าเทียมกันกับทุกคนหรือไม่ เพราะอย่างกรณีของ ส.ว. รายหนึ่ง ตนเคยยื่น ก.ต ให้พิจารณาการทำหน้าที่ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การพิจารณาคดีนี้ของ น.ส.ชลธิชา หมายความว่า เขาจะไม่มีทนายความในการต่อสู้คดีด้วยหรือไม่ ไม่อยากมองว่าเป็นการเตะตัดขาให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้
ด้าน นางอมรัตน์ กล่าวว่า วันนี้มาในนามของกรรมการพรรคก้าวไกล ขอมายืนเคียงข้างกับ น.ส.ชลธิชา ด้วยความเป็นห่วงต่อวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการยุติธรรม การดำรงตนเป็นอิสระ โยงไปถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ด้าน นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา ที่เร่งรัดคดีอาญา มาตรา 112 ที่ น.ส.ชลธิชา ตกเป็นจำเลย โดยมีการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น ว่า คดีนี้ แต่เดิม มีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบ ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม โดยมีระเบียบของประธานศาลฎีกา ออกมาว่า คดีประเภทคดีอาญาสามัญ ควรจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จตั้งแต่วันรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญา เห็นว่า ระยะเวลา ที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป เลยกรอบไปนาน จึงมีการปรับปรุงวันนัดใหม่ ให้กระชั้นขึ้น หรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบ ระยะเวลานานเกินไป
เมื่อกำหนดวันนัดใหม่ ก็เลยมีประเด็น ที่จำเลยโต้แย้งวันนัดว่า ในวันที่ 1-2 มิ.ย.2566 จำเลยไม่ว่าง เพราะทนายติดว่าความคดีที่ศาลอื่น จึงขอเลื่อนการสืบพยาน ในวันดังกล่าว แต่องค์คณะผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนคดีนี้ พิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีนี้ จำเลยมีทนาย 2 คน คือ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม และนายกฤษฎางค์ นุตจรัส โดยคนที่แถลงเลื่อน ว่าติดว่าความที่ศาลอื่น คือ ทนายนรเศรษฐ์ ส่วนทนายกฤษฎางค์ ไม่ได้ปรากฏว่า ติดคดีอะไร เพราะฉะนั้นโดยปกติ เมื่อมีทนาย 2 คนแบบนี้ หากคนหนึ่ง ติดว่าความคดีอื่น แต่อีกคนไม่ติดคดีอะไร ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ องค์คณะผู้พิพากษา จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และมีการสืบพยานไป
ส่วนประเด็นที่ น.ส.ชลธิชา ระบุว่า ในการสืบพยานจำเลย เมื่อวาน(1มิ.ย.2566) ไม่มีทนายจำเลยร่วมรับฟังการสืบพยานภายในห้องพิจารณาคดี นั้น โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กำหนดว่า ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องสืบพยานต่อหน้าทนายจำเลย เพราะฉะนั้นเรื่องของกระบวนพิจารณา การที่กฎหมายกำหนดคือเรื่องของจำเลยเป็นหลัก
แต่สิทธิ์ในการที่จะต่อสู้คดีในการถามค้านตรงนี้ ก็มี 2 ส่วนคือ ประเด็นแรก ทางศาลถามตัวจำเลยว่าจะซักถามพยานในเชิงถามค้านเองหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ไม่ใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของตัวความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือ จำเลย ก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้เองอยู่แล้ว เพราะทนายก็เป็นตัวแทนของตัวความ ก็คือโจทก์ จำเลย เพราะฉะนั้น สิทธิ์ในการถาม ก็เป็นสิทธิ์ในตัวความอยู่แล้ว
นายสรวิศ ยังกล่าวด้วยว่า ในการสืบพยานโจทก์ เมื่อวานที่ผ่านมา มีการอัดเทป หรือ วิดีโอ ไว้ด้วย ซึ่งศาลก็ได้มีการถามเหมือนกันว่า หากทนายจำเลย ไม่ว่างในวันดังกล่าว ก็สามารถไปศึกษาจากวิดีโอ ที่บันทึกไว้ เพื่อขอถามค้านในวันอื่น ได้ แต่ปรากฏว่า น.ส.ชลธิชา ก็โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กระบวนการพิจารณาไม่ชอบ จึงแจ้งต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ตรงนี้ ส่วนการยื่นหนังสือถึง ก.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษา นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และถือเป็นเรื่องปกติ ที่ว่า หากคู่ความคนใด เห็นว่า ตนเองอาจจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ เหมาะสม ก็ ยื่นเรื่องให้พิจารณาได้อยู่แล้ว แต่ว่าสุดท้าย การพิจารณา จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดีที่เกิดขึ้น
ส่วนประเด็นเรื่องของการตั้งคำถามว่า ศาลเร่งรัดพิจารณาคดี เฉพาะว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า คงไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นว่าที่ ส.ส. เพราะการเร่งรัดคดีตรงนี้ ก็ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ ซึ่งการปรับปรุงวันนัด ก็มีการปรับปรุงในหลายๆคดี ให้เร็วขึ้น ตามกฎหมายที่ออกมา และคดีของ น.ส.ชลธิชา ก็ฟ้องมานานแล้ว ไม่ใช่พึ่งฟ้อง ส่วนคดีที่มีการอ้างถึงว่า พิจารณาคดีล่าช้านั้น เป็นคดีที่เพิ่งเกิดขึ้น ด้วยซ้ำ ดังนั้นคงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้