ว่าที่ ส.ส.พรรคเป็นธรรม เจรจายุติเวทีรับฟังความเห็นเหมืองแร่เขาเตราะปลิง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ชี้ ขั้นตอนไม่โปร่งใส ขณะที่เครือข่ายประชาชนฯยันต้องยกเลิกโครงการ และยุติการคุกคามผู้คัดค้าน หวั่นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
วันที่ (1 มิ.ย.) ที่ลานอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในโครงการทำเหมืองแร่ จากคำขอประทานบัตรที่ 1/2565 ชนิดแร่หินแกรนิตเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในเขต ม.4 ต.ทุ่งคล้า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งจะมีพื้นที่ในระยะ 500 เมตร ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วยในพื้นที่ ม.4 ต.ลางา อ.มายอ จ.ปัตตานี
ระหว่างเจ้าหน้าที่และบริษัทเอกชน กำลังชี้แจงโครงการ พบว่า เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง ได้มาชูป้ายคัดค้านไม่เห็นด้วย เช่น ปกป้องภูเขา ปกป้องธรรมชาติ ปกป้องชีวิต ซึ่งจากการเปิดเวทีที่ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูล และรู้ข่าวการเปิดเวทีล่วงหน้าไม่ถึง 3 วัน ทางเครือข่ายประชาชนฯ ที่เป็นกลุ่มนักศึกษา ได้เรียกร้องให้ยุติเวที จนมีการบุกเข้ามาบนเวทีชี้แจง ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และนายอำเภอสายบุรี พยายามเจรจาขอให้ทุกฝ่ายชี้แจงก่อน แต่ไม่เป็นผล
นายซาอุดี เซ็งกะแซรี หัวหน้าส่วนอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือง ได้ขอให้ นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.และ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ที่มาสังเกตการณ์การเปิดเวทีวันนี้ ได้ช่วยเจรจากับกลุ่มนักศึกษาและเครือข่ายประชาชนฯ โดย นายกัณวีร์ ยืนยันว่าเข้าใจจุดยืนของเครือข่ายประชาชน ที่ต้องการเห็นเวทีรับฟังความเห็นที่โปร่งใส และการปกป้องสิทธิชุมชน แต่ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงโครงการให้แล้วเสร็จ และทางเจ้าหน้าที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นของผู้คัดค้านด้วย
“ผมยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน ร่วมปกป้องสิทธิชุมชน ปกป้องทรัพยากรของชุมชน หากให้ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่คัดค้านด้วย ผมพร้อมสู้ไปกับพี่น้องประชาชน” นายกัณวีร์ กล่าว
ขณะที่เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง ออกแถลงการณ์ “ขอคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการการขอประทานบัตรเหมืองแร่เขาเตราะปลิง เพราะกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ทั้งการประชาสัมพันธ์ที่กระจายข่าวสารและส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมเวที ประชาพิจารณ์ไม่ทั่วถึง อีกทั้งระยะเวลาประชาสัมพันธ์กระชั้นชิด ทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่ เป้าหมายไม่สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมเวทีประชาคม ไม่มีข้อมูลที่รอบด้าน เป็นข้อห่วง กังวลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจงใจเชิญเฉพาะผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการเพียงเท่านั้น และการจัดทำเวทีประชาคมในครั้งนี้ไม่ครอบคลุมหมู่บ้านใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการนี้ด้วย
อีกทั้งยังปรากฏพฤติกรรมการคุกคามผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งข่มขู่ผู้นำชุมชน สร้างความหวาดกลัวแก่ชุมชนรอบเขาเตราะปลิง ในนามเครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิงขอเรียกร้อง ดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ฯ นี้ เพราะไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต
2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนศักยภาพพื้นที่ว่าสมควรที่จะมีการขุดชนิดแร่หินแกรนิต อุตสาหกรรมหรือไม่ ประชาชนรอบเขาเพราะปลิงได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
3. ขอให้เครือข่ายนักปกป้องสิทธิ นักกฎหมาย สื่อ วิชาการ พรรคการเมือง ติดตามสถานการณ์ ละเมิดสิทธิ การคุกคามจากผู้มีอิทธิพลต่อประชาชนรอบเขาเตราะปลิง”
“ที่สอบถามประชาชนทั้งรู้ ไม่รู้และหวาดกลัว ไม่กล้าพูด ว่าไม่ต้องการได้หรือไม่ และมีการคุกคามจนกลุ่มนักศึกษาไม่กล้าลงพื้นที่ด้วย จึงอยากเห็นกระบวนการที่โปร่งใส ทำข้อมูลกับชุมชนให้ความรู้ว่าเหมืองแร่ เป็นอย่างไร ไม่ใช่ แค่ 500 เมตร” เครือข่ายประชาชนฯ กล่าว
จากนั้น นายซาอุดี เซ็งกะแซรี หัวหน้าส่วนอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือง ได้ประกาศยุติการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ไปก่อน แต่จากขั้นตอนกฎหมายจะต้องเปิดรับฟังให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน พร้อมชี้แจงว่า โครงการขอประทานบัตรเหมืองแร่นี้เป็นไปตามคำขอที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 จดทะเบียนคำขอ เนื้อที่ 152 ไร่ 2 เศษ ในพื้นที่ ม.4 ต.ทุ่งคล้า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จากนั้นได้มีการติดประกาศ ที่ว่าการอำเภอ เทศบาลเตราะบอน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ภายใน 30 วัน ไม่มีการคัดค้าน จึงนัดหารือผู้ใหญ่บ้าน ในรัศมี 500 เมตร ต้องเชิญคนในทะเบียนบ้านมาเข้าร่วม จึงจัดวันนี้ ซึ่งต้องติดประกาศไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้ประชาชนรับทราบว่ามีการเปิดเวที
“เมื่อเวทีมีปัญหา คงต้องจัดทำใหม่ โดยนำความเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ไปเสนอให้เอกชน ซึ่งต้องทำรายงานทางธรณี การออกแบบโครงสร้างเหมือง การประเมินเรื่องเสียง และวางมาตรการในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ด้วย” นายซาอุดี กล่าว
นายกัณวีร์ ยืนยันกับเครือข่ายประชาชน ว่า จะร่วมติดตามปัญหานี้ และจะติดตามหากมีการคุกคามผู้เคลื่อนไหวคัดค้าน รวมถึงจะมีคณะทำงาน โดย นายมูฮัมหมัดกัดดาฟี กูนา อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี พรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม จะติดตามเรื่องนี้ โดยเห็นว่าปัญหานี้อยู่ที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่โปร่งใส
“เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่กระบวนการทำเหมืองหิน ต้องโปร่งใส แต่จากที่เห็นกรณีนี้ข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่ตรงกัน การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรู้ล่วงหน้ามีน้อย และมีการคุกคามผู้ไม่เห็นด้วย ไม่สามารถจะยอมรับได้ และไม่เป็นธรรมแน่นอน”
นายกัณวีร์ ย้ำด้วยว่า บริษัทที่ทำเหมืองหิน ต้องชี้แจงต่อประชาชน ต้องมีคำตอบให้ประชาชนให้ได้ ต้องให้บริษัทที่ได้รับผลประโยชน์มาชี้แจง ทุกคนต้องเปิดกว้าง ทำให้ประชาชนเชื่อใจว่าไม่ได้รับผลกระทบอย่างไร และรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต้องทำให้เห็นก่อน กระบวนการจึงผิดฝาผิดตัว โครงการแบบนี้จะเอาทุนเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง รัฐบาลใหม่ต้องผลักดันให้เกิดความโปร่งใสด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้าน ม.4 ต.ทุ่งคล้า ที่เป็นชาวพุทธ เปิดเผยด้วยว่า ไม่อยากให้มีการระเบิดภูเขา ไม่อยากให้ทำลายธรรมชาติ โดยรู้สึกไม่สบายใจ ไม่เห็นด้วยที่จะทำเหมืองแร่ ไม่อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านอยู่มานับร้อยปี เป็นที่ที่สวยมาก มีสวนยาง สวนมะพร้าว จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้วย
นางละม้าย มานะการ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เปิดเผยว่า บรรยากาศแบบนี้มีความคุกรุ่น เพราะมีอิทธิพลในพื้นที่บางอย่างทำให้ชาวบ้านกลัวมาก ทั้งๆ ที่ไม่อยากได้เหมืองแร่ โดยเฉพาะชาวพุทธ กลัวมาก เพราะมีกลไกแทรกซ้อน ชาวพุทธไม่เคยเห็นโครงการนี้เลย จึงเห็นด้วยที่เครือข่ายประชาชนเคลื่อนไหวให้เวทียุติไปก่อน เพราะหากปล่อยให้รับฟังความเห็นโดยที่ประชาชนไม่ได้แสดงความเห็นอาจทำให้ผ่านความเห็นไปก่อน และอยากให้นักวิชาการศาสนาอิสลาม มาบอกด้วยว่า การระเบิดภูเขาเป็นฮารอม ขัดหลักศาสนาอิสลามด้วย
ผศ.นุกูล รัตนดากุล นายกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เปิดเผยว่า ได้รับเชิญแบบฉุกเฉิน ไม่รู้เรื่องมาก่อน และเห็นว่าเวทีรับฟังมีพิธีกรรมที่ไม่เปิดโอกาส มีข้อสงสัยทั้งๆ ที่ต้องทำให้โปร่งใส ลักษณะเวที ต้องเปิดให้คนมีส่วนร่วม และต้องให้โอกาสกับเยาวชนให้มีส่วนร่วม โดยเห็นว่าเวทีนี้เป็นบทเรียนสำคัญ จะได้สอนให้ข้าราชการรับรู้ว่า เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากขึ้น ให้คนหนุ่มสาวมาร่วมพูดคุยปัญหาด้วยกัน
ผศ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มอ.ปัตตานี เป็นห่วงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะโครงการเหมืองแร่ ต้องทำอย่างรอบคอบ และมีข้อมูลให้ประชาชนรอบด้านมากกว่านี้ แม้ทรัพยากรสินแร่ จะมีความสำคัญ แต่สิทธิชุมชน สิทธิท้องถิ่นที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ก็สำคัญด้วย