xs
xsm
sm
md
lg

ตามดูร่างฯ คุมปืน ฉบับใหม่ ฝ่าย กม.มท.ชงแก้เงื่อนไขเพียบ! ปูด! “จดทะเบียนปืน” ซื้อจากโรงงานอาวุธในประเทศกระทบ “กลาโหม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามดูร่างกฎกระทรวง “คุมอาวุธปืน” ฉบับใหม่ ฝ่าย กม.มหาดไทย ชงแก้สารพัดปัญหา ยังห่วง! ร่างฯ สร้างเงื่อนไข “การจดทะเบียน” โดยเฉพาะผู้ที่รับใบอนุญาต ป.5 “โรงงานผู้ผลิตขายปืน-กระสุนเพื่อการค้า” ภายในประเทศ และ อำนาจหน้าที่ “จดแจ้งของนายทะเบียนท้องที่” ที่เกี่ยวข้อง รับ “จดทะเบียนปืน” ที่ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ กระทบหลายหน่ายงาน ทั้ง “คลัง-กลาโหม-มท."

วันนี้ (31 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าต่อกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ภายหลังเกิดอาชญากรรมจากการใช้อาวุธปืนบ่อยครั้ง เช่น เหตุที่ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งล่วงเวลามาเกือบเข้าเดือนที่ 9 แล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ได้หยิบยก ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปีนเครื่องกระสุนปีน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปีน พ.ศ. 2490 มาพิจารณาครั้งที่สอง

ตามที่ สำนักการสอบสวนและนิติการ (สน.สก.ปค.) กรมการปกครอง เจ้าของร่าง ได้ดำเนินการขออนุมัติ “ในหลักการ” ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ.) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปีนฯ พ.ศ. 2490 โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

โดยมติที่ประชุมให้ “กรมการปกครอง” แก้ไขร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้ แล้วจึงดำเนินการเสนอต่อไปได้

พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร่างฉบับนี้ “สน.สก.ปค.” พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็น เร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหา

“เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียน อาวุธปืนที่ซื้อจากโรงงานผู้ผลิตภายในราชอาณาจักร และกำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่ที่เกี่ยวข้อง”

สำหรับความเห็นของ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวง โดยให้แก้ไขหลักการและเหตุผลให้เกิดความชัดเจน สอดคล้องและเป็นไปตาม รูปแบบของการร่างกฎหมาย โดยแก้ไขเป็นดังนี้

แก้ไข “หลักการ” ใจความว่า ให้มีกฎกระทรวงออกตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปีน วัตถุระเบิด ดอกไม้ เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2490) ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490

กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ซี้อจากโรงงานผู้ผลิต ตามพระราชบัญญัติ โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 กฎหมายที่ทำขึ้นในราชอาณาจักร

แก้ไข “เหตุผล” โดยที่กฎกระทรวง (พ.ศ. 2490) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียนอาวุธปีนที่สั่งหรือนำเข้าจากภายนอกราขอาณาจักร

แต่มิได้ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ซื้อจากโรงงาน ผู้ผลิตตาม กฎหมายพระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และพระราขบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรไว้

“เพื่อให้ กฎกระทรวงดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนอาวุธปืนครบถ้วน และเกิดความชัดเจนในการ ปฏิบัติตามกฎหมายแก่ รัฐมนตรี หรือนายทะเบียนท้องที่ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้”

ทั้งนี้ ให้ตัดบทอาศัยอำนาจตามมาตรา 6(4) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 และอีกหลายมาตรา “แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่อ้างถึงออก”

“เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าว มิได้มีความเกี่ยวข้อง กับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ซื้อจากผู้ผลิต ตาม พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรตามร่างกฎกระทรวง ดังกล่าว”

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า “ผู้ที่รับใบอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืน หรือ เครื่องกระสุนปืน สำหรับการค้า (แบบ ป.5) จะซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรจากผู้ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายประเภทใดบ้าง

ประกอบกับ “กรมการปกครอง” ชี้แจงว่า ผู้ที่รับใบอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน สำหรับการค้า (แบบ ป.5) จะซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรได้

“เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรตามร่างกฎกระทรวง เท่านั้น”

ดังนั้น จึงให้ ระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ผู้ที่ได้รับอนุญาต” ตามกฎหมายประเภทดังกล่าว ไว้ในข้อ 5/1 ของร่างกฎกระทรวง ดังกล่าวด้วย โดยให้แก้ไขเป็น ดังนี้

“ข้อ 5/1 การซื้ออาวุธปืน หรือ เครื่องกระสุนปืน ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักร จากผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิต และจำหน่ายอาวุธ ที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490
ให้กระทำได้ “เฉพาะผู้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน สำหรับการค้า(แบบ ป.5)”

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการประสานงานเกี่ยวกับ “การจดแจ้งทะเบียนอาวุธปืน” ระหว่าง นายทะเบียนท้องที่ ที่ออกใบอนุญาต ให้จำหน่าย ตามแบบ ป.5) และ นายทะเบียนท้องที่ ที่ผู้ผลิตและจำหน่ายอาวุธที่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ตั้งอยู่

จึงให้เพิ่มความว่า “พร้อมสำเนาใบอนุญาตดังกล่าว แจ้งไปยังนายทะเบียนท้องที่ ที่ผู้ผลิตและจำหน่ายอาวุธที่ได้รับอนุญาตตั้งอยู่ภายในสามวันทำการ

นับแต่วันที่นายทะเบียนท้องที่ ออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือ เครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า (แบบ ป.3) ให้แก่ผู้ยื่นคำขอ” ไว้ในข้อ 5/2 วรรคหนึ่งตอนท้ายของ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วย

กรมการปกครอง ยังชี้แจงว่า เนื่องจากการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ซื้อจากผู้ผลิต ตามพ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักร มีความเกี่ยวข้องกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย

ดังนั้น เพื่อ “มิให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน” จึงให้ กรมการปกครอง จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเมื่อกฎหมายดังกล่าวออกใช้บังคับแล้ว

ท้ายสุดเนื่องจาก พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มิได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับกรณีการจดทะเบียนอาวุธปีนที่ซื้อจากผู้ผลิต ตามพ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ที่ทำขึ้นในราชอาณาจักรไว้

จึงไม่สามารถนำบทลงโทษทางอาญาดังกล่าว มากำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ ซึ่งประเด็นนี้ กรมการปกครองอาจ พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ต่อไปในภายหน้าได้


กำลังโหลดความคิดเห็น