xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกรัฐบาลประชาสัมพันธ์การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกรมที่ดิน จากนี้ไปผู้ขายฝากที่จ่ายหนี้ตามสัญญาครบแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาลประชาสัมพันธ์การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกรมที่ดิน จากนี้ไปผู้ขายฝากที่จ่ายหนี้ตามสัญญาครบแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนทันที แม้ว่าผู้ซื้อฝากจะไม่ยอมคืนโฉนด

วันนี้ (31 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมที่ดินได้ปรับปรุงระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการวางทรัพย์สินไถ่ฯ ในการทำสัญญาขายฝาก โดยหากผู้ขายฝากได้ชำระสินไถ่ หรือวางทรัพย์ที่สำนักงานที่ดินแล้ว รวมทั้งเมื่อเจ้าพนักงานมีหนังสื้อแจ้งผู้ซื้อฝากให้มารับเงินและนำเอกสารสิทธิ (โฉนด) มาจดทะเบียนไถ่จากการขายฝากแล้ว ถ้าผู้ซื้อฝากไม่มาติดต่อ หรือมาแต่ไม่เอาเอกสารสิทธิมาด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เจ้าพนักงานสามารถออกใบแทนเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ขายฝากได้ทันที ซึ่งหมายความว่า จากนี้ไปผู้ขายฝากที่จ่ายหนี้ตามสัญญาครบแล้ว จะได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินคืนทันที แม้ว่าผู้ซื้อฝากจะไม่ยอมคืนโฉนด

นายอนุชา กล่าวว่า “รัฐบาลดำเนินการด้านการปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้กฎระเบียบที่เป็นไปตามเจตนาของกฎหมาย และเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โปร่งใส เป็นธรรม”

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 (ระเบียบวางทรัพย์.pdf (dol.go.th)) เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 18 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย โดยได้เพิ่มข้อความในข้อ 9 วรรคสอง ปรากฏตามระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

“เมื่อผู้ขายฝากได้ชำระสินไถ่หรือวางสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้แล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งรับวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ซื้อฝากทราบ พร้อมกับให้มารับเงินอันเป็นสินไถ่ และนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาจดทะเบียนไถ่จากขายฝากตามข้อ 8 แล้ว หากพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับแจ้ง หรือพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ถือว่าได้รับแจ้งตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่ผู้ซื้อฝากไม่มาโดยไม่ติดต่อหรือแจ้งเหตุขัดข้อง หรือมาแต่ไม่ส่งมอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฝากขาย ให้ถือว่าหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมเป็นอันตราย อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถออกใบแทนเพื่อจดทะเบียนไถ่จากขายฝากให้ผู้ขายฝากได้ ตามนัยมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 17(1) ทั้งนี้ การดำเนินการออกใบแทนเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ”


กำลังโหลดความคิดเห็น