เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว นาทีนี้ถือว่าทุกอย่างกำลังเดินเข้าทางพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคอันดับสองในลำดับถัดไป ตรงกันข้ามกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล หนทางกำลังตีบตัน และใกล้ถึงจุดพลิกผันเต็มทีแล้ว
หากประเมินจากความเห็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะบรรดา “กูรูทางกฎหมาย” ต่อกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรื่องการ“ถือหุ้นสื่อ” สรุปออกมาตรงกันว่า “ไม่น่ารอด” โดยอ้างอิงเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตหลายกรณี ซึ่งกรณีของนายพิธา ถือว่าชัดเจนยิ่งกว่าเสียอีก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เคยระบุว่า ให้กลับไปดูคำวินิจฉัยเก่าของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวกับคดีถือหุ้นสื่อ ก็จะเห็นทิศทางในการตัดสินตัดสินคดีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งถูกร้องจากกรณีมีชื่อถือหุ้นไอทีวี ว่ามีหลายคดี ซึ่งตนยังไม่ได้ดู ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องเป็นคดีเกี่ยวกับการถือหุ้น หรือไม่ หรือคดีอื่นๆ นำมาเทียบเคียงได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องคดีเรื่องหุ้น
เมื่อถามถึง กรณีที่ศาลฎีกา สั่งคืนสิทธิให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัครส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กรณี ถือหุ้นเอไอเอส ที่ไปลงทุนเกี่ยวกับบริษัทสื่อ สามารถนำมาเทียบเคียงได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เทียบได้ แต่ประเด็นก็ต่างกัน ถ้ากรณีนายชาญชัย บริษัทแม่ไปถือหุ้นในบริษัท เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี แต่ก็ต้องเอามาดูด้วยกันหมด
ถามถึงกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นําคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ที่เคยตัดสินเรื่องถือหุ้นสื่อ ไปยื่นให้กับกกต. เพิ่มเติม จะสามารถเทียบเคียงกับคดีของนายพิธา ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเลยว่าเขาเอาอะไรไปยื่น
เมื่อถามว่า พอจะยกตัวอย่างคำวินิจฉัยเก่าๆได้หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางให้สังคมรับทราบ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนก็บอกไม่ถูก แต่หลักการก็ต้องไปดูอย่างนั้น แต่ตนก็ไม่ได้เจาะจงว่า คำวินิจฉัยไหน และส่วนตัวก็ไม่ได้ไปดู และไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องไปรู้ด้วย
ก่อนหน้านั้น เขาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญ ระบุบทบัญญัติเกี่ยวการถือครองหุ้นมีเจตนารมณ์อย่างไร ว่า ไม่ทราบ เดี๋ยวถ้าตอบไป ก็อาจไม่ถูก เรื่องประเด็นนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้สั้นๆ เท่านั้นโดยไม่ได้บอกว่า กี่หุ้น และไม่ได้บอกว่าต้องเป็นสื่อขนาดไหน โอเปอเรต คือ ดำเนินการอยู่หรือไม่ แต่ถ้าดูคำวินิจฉัยเก่าๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเห็นทิศทางได้เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเรื่องนี้มาแล้วหลายคดี
เมื่อถามว่า กรณีถือหุ้นสื่อ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะต้องรีบทำให้เสร็จก่อนถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่ หรือเป็นเรื่องระหว่างกกต. กับศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต.กับศาลรัฐธรรมนูญ คือ ด่านที่ 1 กกต. ด่านที่ 2 ไปศาลรัฐธรรมนูญ หรือถ้ากกต.ไม่เห็นด้วย ก็สามารถปัดตกได้
เมื่อฟังแนวทางข้อกฎหมายจาก นายวิษณุ เครืองาม ก็พอสรุปได้คร่าวๆ ว่า เคยมีคำพิพากษาเทียบเคียงเกี่ยวกับเรื่อง “ถือหุ้นสื่อ” เอาไว้หลายคดี เอาเป็นว่า “ส่อไปในทาง ไม่น่ารอด” ก็แล้วกัน
หากออกมาทางร้ายจริงๆ แม้ว่าตามขั้นตอนจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก น่าจะราวต้นปีหน้า โดยหากไปถึงชั้นศาล และรับฟ้องขั้นตอนแรก ก็อาจถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ก่อน เหมือนกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แต่ในตอนนี้ทางกกต. ก็เพิ่งขยับ เรียกผู้ร้องไปให้ปากคำเท่านั้น ต้องรออีกระยะหนึ่ง
นั่นเป็นขั้นตอนทีหลัง เพราะวาระเร่งด่วนเฉพาะหน้าก็คือ ต้องผ่านการโหวตจากที่ประชุมรัฐสภาให้ได้เสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไปก่อน สำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งดูท่าทีแล้วยังมีเสียงหนุนจากส.ว.ไม่ครบจำนวน นี่คืออุปสรรคใหญ่ ในชั้นที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ที่เป็นระดับ “ด่านหิน” ทั้งนั้น
วกมาที่พรรคเพื่อไทยบ้าง อย่างที่รู้กันดีว่า เป็น “พรรคตัวแปร” เพราะพรรคก้าวไกล จะขาดพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้เห็นเกมต่อรองที่เข้มข้นสำหรับเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมถอยอย่างเด็ดขาด เพราะจะมีผลต่อ “ช็อตที่สอง” ของพวกเขา ทั้งในเรื่องการเป็น “ผู้กำหนดเกม” ต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต
ดังนั้น ด้วยสภาพที่พรรคเพื่อไทยเป็น “ตัวแปร” สำคัญที่สุด ย่อมต้องรักษาสถานการณ์ต่อรอง ที่เหนือกว่าในทุกเรื่อง รวมไปถึงโควตากระทรวงสำคัญ ขณะที่พรรคก้าวไกล นาทีนี้ถือว่า กลายเป็น“เบี้ยล่าง” ทุกทาง หลังจากมีแนวโน้มชัดเจนว่า ไม่ได้เสียงสนับสนุนเพียงพอ จากส.ว.ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็มีท่าทีวางเฉย ไม่ร่วมกดดัน ทำให้นายพิธา ไม่น่าจะได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ในรอบแรก ซึ่งหลังจากนี้เกมอาจพลิกมาที่พรรคอันดับสองหรือไม่ก็ได้
อย่างไรก็ดี หากมองในทางบวกว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเสียงสนับสนุนครบจำนวนได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาผู้แทนฯ (ประธานรัฐสภา) มาจากพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก็ต้องมาเจอกับด่านที่สอง นั่นคือ “ปมถือหุ้นสื่อ” ที่ค้ำคออยู่ ซึ่งหลายฝ่ายมองตรงกันแล้วว่า “รอดยาก”
เมื่อมาถึงตรงนี้ก็น่าจะเห็นภาพชัดแล้วว่าจะต้องเกิดอะไรขึ้น เมื่อพรรคก้าวไกลมีแคนดิเดตนายกฯเพียงคนเดียว คือนายพิธา หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเป็นลบจริง นั่นหมายถึงหายนะ ทั้งคนทั้งพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ต้องเสียหลักการ ยังสามารถ “กอดประชาธิปไตยไว้แน่น” ที่ผ่านมาก็ไม่ได้หักหลังเพื่อน แต่ “เพื่อนสะดุดขาล้มเอง” และมีแคนดิเดตนายกฯถึงสามคน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน รวมทั้ง นายชัยเกษม นิติสิริ รอเสียบอยู่แล้ว กลายมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยใช้ขั้วเดิมทั้ง 8 พรรคก็ได้ (หากก้าวไกลยังอยู่) รวมไปถึงไปดึงพรรคอื่นมาเติมก็เป็นไปได้
ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ทำให้เห็นว่า ทุกอย่างกำลังเข้าทางพรรคเพื่อไทยทุกประตู และเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาไม่มีทางปล่อยเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นอันขาด ขณะที่พรรคก้าวไกล กำลังเดินเข้าสู่ทางตัน และเสี่ยงหายนะ เข้าไปเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องส.ว.ที่ส่วนใหญ่ไม่โหวตให้ โดยที่เพื่อไทยนั่งมองเฉยๆ อย่างไรก็ดี หากผ่านด่านนี้ไปได้ก็ต้องเจอ “ด่านซุกหุ้นสื่อ” ที่ฟันธงกันว่า รอดยาก ถึงตอนนั้นพอเห็นภาพแล้วหรือยังว่าพรรคไหนกำลังรอกินรวบรอบวง แบบหล่อๆอีกด้วย !!