ปชป.โหวต “หัวหน้าพรรค” รอ กกต.รับรอง ส.ส. “ราเมศ” ยันไม่เกิน 13 ก.ค.รู้ชื่อผู้นำพรรคคนใหม่ จ่อยกเว้นข้อบังคับหยั่งเสียง เลี่ยงปัญหาแรงกระเพื่อมภายใน เผย “เฉลิมชัย” ยันไม่เคยเจรจาขอร่วม รบ.กับใคร
วันนี้ (24 พ.ค.) นายราเมศ รัตนเชวง รักษาการโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดรักษาการ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ เรื่องแรกการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง คือ การสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้มีประชาชนสมัครสมาชิกทั่วประเทศแล้ว 89,180 คน แต่หลังจากที่มีการแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง ปรับลดค่าบำรุงเป็น 20 บาท เชื่อว่า จะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรณี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการเลือกตั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ภายใน 60 วันตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง
ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ตามข้อบังคับข้อที่ 32 ในอดีตจะต้องเปิดให้มีการหยั่งเสียงเบื้องต้น เหมือนดังเช่นเมื่อครั้งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออก แต่ขณะนี้เรามีกลไกประจำจังหวัดและสาขาพรรค ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการยกเว้นข้อบังคับข้างต้น แต่ยังยืนยันที่จะรับฟังสมาชิกทุกท่าน โดยหลังจากนี้พรรคจะมีการเรียกประชมุใหญ่วิสามัญซึ่งวันนั้นก็จะมีสมาชิกทั่วประเทศเข้าร่วมอยู่แล้ว
นายราเมศ ยังกล่าวว่า ที่ประชุม กก.บห.ชุดรักษาการ ได้มีการกำหนดองค์ประชุมในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยองค์ประชุมสำคัญที่สุด คือ ว่าที่ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งทั้ง 24 คน ที่จะเป็นองค์ประชุมหลัก 70% ดังนั้น จึงเห็นควรให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการรับรองก่อน โดยจะให้องค์ประชุมหลักเป็นในส่วนของ ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งล่าสุด 70%
ในส่วนอื่นๆ ยังเป็นไปในข้อบังคับพรรคทุกประการ เช่น จะต้องมีกรรมการบริหารพรรค อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่จะร่วมเป็นองค์ประชุม 30% โดยหลังจากนี้ จะมีการประชุมเพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมอีกครั้ง
นายราเมศ ยังกล่าวว่า การประชุม กก.บห.ชุดรักษาการครั้งนี้ ยังไม่ใช่นัดสุดท้าย แต่หลังจาก กกต.มีการรับรอง ส.ส. จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนอีกครั้งซึ่งหากนับกำหนด 60 วัน หลังจากนายจุรินทร์ลาออก จะต้องมีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ภายในวันที่ 13 ก.ค.นี้
เมื่อถามว่า การที่ยกเว้นข้อบังคับในเรื่องการหยั่งสียงเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า ในอดีตที่มีการแข่งขันตามระบอบประชาธิปไตยย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเลือกเสร็จก็จบ ยืนยันว่า เหตุผลที่ยกเว้นข้อบังคับมาจากว่าขณะนี้เรามีสมาชิกพรรค รวมถึงกลไกแต่ละจังหวัดที่เพียงพออยู่แล้ว ย้ำว่าเรายังเห็นความสำคัญของสมาชิก แต่ก็จะยังเปิดให้ผู้แข่งขันได้แสดงวิสัยทัศน์ก่อนลงคะแนนเหมือนปกติ
นายราเมศ ยังกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยผลการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเพียงแต่ให้กำลังใจกัน หลังจากประชุมกก.บห. ก็จะมีการประชุมว่าที่ส.ส.เพื่อที่จะขับเคลื่อนการทำงานภายใต้ระบบรัฐสภาต่อไป ย้ำว่า ในที่ประชุมยังไม่มีการให้ความเห็นประเด็นร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือ ลงมติเลือกนายกฯคนไหน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้มติพรรค
เช่นเดียวกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ยืนยันต่อที่ประชุมอย่างชัดเจนว่าไม่เคยพูดคุยติดต่อประสานงานเรื่องตั้งรัฐบาลกับใครทั้งสิ้น ข่าวที่ออกไปเป็นการบิดเบือนเพื่อดิสเครดิตพรรค ขณะเดียวกัน ท่านยังพูดในหลักการ “คำไหนคำนั้น” เมื่อตัวเลขไม่ถึงตามที่ประกาศไว้ก็ต้องดำเนินการตามนั้น แต่ในส่วนของสมาชิก ยังเชื่อในหลักการว่าท่านยังรักพรรคประชาธิปัตย์และยังต้องการคำปรึกษาจากท่านรวมถึงผู้อาวุโสอีกหลายท่านที่มีประสบการณ์ ซึ่งเราก็ดำเนินการมาโดยตลอด