ข่าวปนคน คนปนข่าว
**“พี่ศรี” จัดให้อีกหนึ่งดอก “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” ส่อครอบงำ ชี้นำการตั้งรัฐบาลก้าวไกล
เมื่อสองวันก่อน (17พ.ค.) ที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เชิญแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ,ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม มาร่วมวงดินเนอร์ เจรจาความร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล ที่ร้าน CHEZ MILINE ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กทม.
ร้าน CHEZ MILINE เป็นร้านอาหารฟิวชันเวสเทิร์น และญี่ปุ่น ตัวอาคารโบราณสไตล์คลาสสิค อายุกว่า 150 ปี ซึ่งที่แห่งนี้ นอกจากจะมีชื่อเสียงในด้านอาหาร และบรรยากาศของร้านแล้ว ยังมีประวัติเกี่ยวกับการเป็นที่เจรจาทางการเมืองด้วย อย่างเช่นสมัยที่มีการจัดตั้งรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” เมื่อปี 2531 ช่วงสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่มาจากคณะรัฐประหาร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา19 และครองอำนาจยาวนานถึง 8 ปี ก็มาฟอร์มรัฐบาลกันที่นี่
จึงถือว่าเป็นการเลือกสถานที่ ที่ถือเคล็ด ถือโชคทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
เมนูอาหารที่พรรคก้าวไกลเป็นเจ้าภาพในวันนั้น ถือว่าจัดให้แบบชุดใหญ่ ประกอบด้วย 1.Cheese & Cold Cut Platter (จานชีสและโคลด์คัตรวมนานาชนิด)
2. Dry-aged Hamachi Carpaccio (ปลาฮามาจิ ดราย-เอจ แล่บางๆ นำมาทำเป็นการ์ปัชโช่สไตล์อิตาลี) 3.Fish without Chip (ปลาทอดที่ไม่มีมันฝรั่ง ล้อไปกับเมนู Fish and Chip ของอังกฤษ) 4.White Miso Green Salad (สลัดมิโสะขาวให้ความสดชื่น) 5.Grilled Freshwater Prawn (กุ้งแม่น้ำไซส์ยักษ์ย่างหอมๆ เสิร์ฟมาแบบอุ่นๆ เนื้อเด้งชุ่มฉ่ำ) 6.Lamb Rack (Medium) (ซี่โครงแกะย่าง มาแบบมีเดียม มีความนุ่ม และ Juicy) 7.Ribeye, Australian Wagyu (Medium Rare) + Topping Seared Goose Foie Gra (สเต็กเนื้อริบอาย ออสเตรเลียนวากิวย่างมาแบบมีเดียม ท็อปด้วยตับห่านย่างหอมๆ 8.Tenderloin, Japanese Wagyu + Topping Seared Hotate (สเต็กเนื้อเทนเดอรอยด์ เนื้อวากิวนำเข้าจากญี่ปุ่น ท็อปด้วยหอยเชลล์โฮตาเตะย่าง ช่วยเพิ่มเทคเจอร์ความนุ่มละมุนให้ตัวเนื้อ) 9.Wagyu Fried Rice
(ปิดท้ายด้วย ข้าวผัดเนื้อวากิว มันเนื้อแตกพล่านหอมฟุ้งไปทั้งจาน) ...
ส่วนเครื่องดื่มเสริมการพูดคุยอย่างออกรส ก็มีการเสิร์ฟไวน์มะม่วง และไวน์ข้าวเหนียวดำ จากข้าวหอมมะลิสุรินทร์ จากวิสาหกิจชุมชน สุรินทร์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการสุราก้าวไกล ของพรรคก้าวไกล
ตัวแทนของก้าวไกล ที่นำการเจรจาในวันนั้น ก็มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค และ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
นอกจากนี้ยังมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะคณะก้าวหน้า และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เดินทางมาสมทบอีกด้วย เมื่อเจอนักข่าวถามว่า ที่มาร่วมวงพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีประเด็นอะไรมาเสริมเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่ง “ปิยบุตร”ก็ตอบว่าไม่เกี่ยวกับตน เพราะตนเป็นเพียงผู้ช่วยหาเสียงเท่านั้น พวกเขามาฉลองชัย จึงชวนให้มาทานข้าวด้วยเท่านั้น
แต่เสียงวิจารณ์จากคนนอกวงที่เห็น มองว่า ที่ “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ พรรณิการ์” ซึ่งถือว่าเป็นสาย “สุดโต่ง” ของพรรค ต้องมากำกับเอง เพราะเกรงว่า “พิธา” ที่เป็นนักการเมือง ออกแนวประนีประนอม จะเสียท่าแกนนำเขี้ยวลากดิน จากพรรคเพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย และเสรีรวมไทย
เมื่อวงดินเนอร์เจรจาตั้งรัฐบาล มีทั้ง “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ พรรณิการ์” ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาร่วมด้วย ก็เข้าทาง“พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าททั้งสามคน ร่วมวงสนทนาการตั้งรัฐบาล ในฐานะอะไร ในเมื่อไม่ใช่สมาชิกพรรค และหมดสถานะผู้ช่วยหาเสียงไปแล้ว เพราะเลือกตั้งจบแล้ว
ดังนั้นเรื่องนี้ต้องถึงกกต. เพราะเข้าข่ายไปครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง หรือพรรคการเมือง ปล่อยให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคมาครอบงำ ชี้นำ อาจเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
“พี่ศรี”บอกว่า เรื่องนี้ กกต.สามารถเสนอให้ศาลรธน. สั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค ที่ร่วมหารือกันตั้งรัฐบาลในวันนั้นได้ ตามมาตรา 92(3) ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง
ก็ถือว่า “พี่ศรี”จัดให้อีกดอก สุดท้ายจะลงเอยอย่างไรต้องติดตาม
**อย่าเลียบๆ เคียงๆ จุดยืนว่าที่พรรคร่วมฯ ต่อ ม.112 จะเอาไงแน่?!
ยืนหยัดชัดเจน สำหรับพรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืน มาตรา 112 โดยได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า จุดยืนของพรรคคือ ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยแถลงต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้
จุดยืนนี้ เป็นหลักการสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือต่อรองได้ พรรคภูมิใจไทยจึงไม่สามารถลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมือง ที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้
การเรียกร้อง ข่มขู่ กดดัน ต่อพรรคภูมิใจไทย ให้สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะไม่มีผลให้พรรคภูมิใจไทย และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ และจุดยืนได้
ดังนั้น หากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประสบผลสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประชาชน และปกป้องสถาบันสำคัญของชาติอย่างสุดความสามารถ
พรรคภูมิใจไทยยังเรียกร้องให้พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองที่กดดันให้พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจาก พรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แสดงจุดยืนต่อกรณีการเสนอแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของท่านให้ประชาชนทราบด้วย
ก็ได้รับเสียงชื่นชมกันไป สำหรับจุดยืนที่แนวแน่ของพรรคภูมิใจไทย ในการเป็นพรรคการเมืองหลัก ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ
หันมาดู ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล “พิธา 1” ที่ได้มีการแถลงข่าวจัดตั้ง “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” เมื่อวันวาน (18 พ.ค.) ซึ่งมี 8 พรรค 313 เสียง ประกอบด้วย ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย เพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และ พลังสังคมใหม่
หลังจากการแถลงก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า เรื่องการแก้ไข มาตรา 112 จะออกหัวออกก้อยแบบไหน โดยโยนไปให้รอฟังแถลง MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.นี้
ทั้งๆ ที่ จะว่าไป เรื่องมาตรา 112 น่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า“เสี่ยพิธา” จะได้เป็นนายกฯคนที่ 30 หรือไม่ หรือหากได้เป็นแล้ว จะยืนยงคงกระพันครบ 4 ปีหรือไม่
ต้องไม่ลืมว่า ทั้ง 8 พรรค มีส.ส.รวมกันแค่ 313 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ก็จริง แต่การโหวตเลือกนายกฯต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา นั่นคือ 376 เสียง จึงต้องหามาเพิ่มอีก 63 เสียง ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่า จะต้องดึงมาจากฝั่ง ส.ว.
แต่ ส.ว.หลายคน ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่า ถ้าจะโหวตเลือก “พิธา” ก็มีเงื่อนไขสำคัญว่า รัฐบาลชุดใหม่จะต้องไม่ไปแตะต้อง มาตรา 112 เพราะฉะนั้น ถ้ายังอยากได้เสียงโหวตจาก ส.ว. ก็ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปข่มขู่ให้ ส.ว.ยกมือให้ โดยอ้างว่าพรรคตัวเองได้ฉันทามติจากประชาชน ทั้งๆ ที่ได้ ส.ส.เพียง 152 จาก 500 เสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากคำแถลงของแกนนำทั้ง 8 พรรค เมื่อวาน ก็ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็น มาตรา 112 ออกมาแต่อย่างใด
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า สำหรับจุดยืน ม.112 ก่อนเลือกตั้งมีการพูดคุยเรื่องนี้เยอะแล้ว ค่อนข้างขัดเจน ทุกพรรคไม่ได้ห่วงเรื่องนี้ กำลังเจรจา มีความคืบหน้าที่น่าพอใจ ม.112 ตกผลึกแล้ว ไม่มีไรน่ากังวล
ส่วน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่า เรื่อง ม.112 ถ้าลงนาม mou ร่วมกัน ก็ถือว่าสรุปจบแล้ว จุดนี้ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะไม่ร่วมกัน ตนในนามเพื่อไทย ยืนยันที่จะทำภารกิจนี้
“เรื่องการแก้ไข ม.112 จะเป็นเนื้อหาที่อยู่ใน MOU และหากมีการลงนาม MOU ร่วมกัน หมายความว่าเป็นข้อตกลงที่สรุปจบแล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทางเราได้เสนอให้กับทางพรรคก้าวไกล ดังนั้น ในกรณี ม.112 จะไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้เราไม่ได้ร่วมกัน เพราะเรากำลังจะมีข้อตกลงร่วมที่ทุกคนจะเห็นทางออกร่วมกันได้”
ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็บอกว่า ส่วน ม.112 ไทยสร้างไทยชัดเจน ทุกคนมีจุดยืนชัดเจนในทุกเวทีว่า หน้าที่ของพรรคการเมือง ต้องรักษาตาม ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อะไรที่ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย หน้าที่ของพรรคต้องปกป้อง การที่ผู้มีอำนาจมาใช้ ม.112 กลั่นแกล้งประชาชน ต้องมีการพิจารณา แล้วมาดูกันอีกครั้ง ยืนยันปกป้องสถาบัน ไม่ต้องการให้ใช้ ม.112 แกล้งใคร แต่ละพรรคมีจุดยืนที่ต้องคุยกัน
สรุป ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากว่าที่พรรคร่วมฯ ว่ามีจุดยืนอย่างไรกับ ม.112 นอกจากพูดเลียบๆ เคียงๆ ว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในการ่วมรัฐบาล
ชาวบ้านได้แต่หวังว่า ว่าที่พรรคร่วมฯทั้ง 7 พรรค จะไม่ยอมเอนอ่อนไปตามพรรคก้าวไกล โดยหวังเพียงเพื่อจะได้ร่วมรัฐบาล โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา