ลุ้นตัวเลข ส.ว.ยกมือให้ “พิธา” นั่งนายกฯ หลังรวมเสียงได้ชัดเจนแล้ว 313 เสียง “เสรี” เชื่อ ส.ว.รับได้ หากก้าวไกลยอมถอยไม่แก้ ม.112 เพราะอยากเห็นบริหารประเทศตามนโยบายพิสดาร เหน็บถ้าด่ากันมากๆ ก็ไม่เอา ขณะที่กลุ่ม “บิ๊กป้อม” ปิดปาก บอกแค่ “เขาให้ ส.ว.อยู่นิ่งๆ”
วันนี้ (18 พ.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ไม่ได้มีการแบ่งว่าเป็นสายใคร ทุกคนเป็นอิสระ เวลานี้พรรคก้าวไกลต้องการเสียงจาก ส.ว. 60 กว่าเสียง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะครบหรือไม่ เพราะเหลือเวลาอีก 1-2 เดือน วันนี้คิดอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจคิดอีกอย่างก็ไม่มีใครรู้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าวันนี้มี ส.ว.ที่จะนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯกี่คน ตอนนี้ที่เห็นก็มีอยู่ 5-6 คน ดังนั้น จึงต้องรอดูสถานการณ์ วันนี้ที่พรรคร่วมฯเขาไปทำเอ็มโอยูกัน ก็แค่ตกลงเจรจาร่วมกัน ใครจะเปลี่ยนอะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่แน่นอนการเมืองไทยเปลี่ยนได้ทุกคน
เมื่อถามว่า นายพิธา ยังยืนยันจะแก้มาตรา 112 จะมีผลต่อการโหวตของ ส.ว.หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า การที่เขายืนยัน เราก็ยืนยันเหมือนกัน และตนก็ไม่เห็นด้วยกับการเอาเรื่องคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ประชาชนมีฉันทามติมาแล้วว่าเอาพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ 150 กว่าเสียง แต่ก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของสภา จึงไม่ได้หมายความว่าเขาจะเอาด้วยหรือไม่ แต่ ส.ว.เรามีประเด็นเดียวไม่ว่าพรรคไหน ที่คิดจะแก้มาตรา 112 เราไม่เอาเท่านั้นเอง และเป็นคนละเรื่องว่า ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเยอะ ซึ่งมันไม่ใช่
นายเสรี กล่าวต่อว่า ส่วนตัวแล้วยิ่งมากดดัน มาด่ากันมากๆ ไม่เอาก็ได้ ส่วนคนอื่นเราไม่รู้ ถึงเวลาก็แสดงความเห็นกันเอง ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น พูดไปตอนนี้ก็เหมือนโกหกใครจะเชื่อ ดังนั้น รอเพียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผู้สมัครอย่างไร ต้องตรวจสอบคุณสมบัติข้อร้องเรียนก่อน จึงไม่สามารถจะกำหนดชัดเจนได้ว่า ส.ว.จะโหวตให้ใครเท่าไหร่ จะโหวตหรือไม่ ตอนนี้ก็พูดกันไป
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ส.ว.แต่อยู่ที่พรรคก้าวไกลยังยืนยันแนวทางแก้มาตรา112 เพราะถ้าถอนไม่แก้ ก็ไม่มีปัญหา ส.ว.ก็เห็นชอบกันได้ เพราะเขาก็อยากเห็นนโยบายที่ดี นโยบายพิสดาร ประชาชนได้ประโยชน์ ก็อยากให้พรรคก้าวไกลได้บริหาร แต่เราติดเรื่องเดียว คือ อย่าไปยุ่งกับสถาบันเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้ามีไม่เรื่องเหล่านี้ แล้วเดินตามนโยบายที่หาเสียงไว้ก็จบแล้ว” นายเสรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามโทรศัพท์สอบถามไปยังกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างงดให้สัมภาษณ์ โดย พล.อ.นพดล อินทรปัญญา ส.ว.เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร บอกเพียงว่า “เขาให้ ส.ว.อยู่นิ่งๆ”
ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงทำ MOU ร่วมกับ 8 พรรคการเมือง ได้จำนวน 313 เสียง ซึ่งเท่ากับยังต้องการเสียงโหวตของสมาชิกรัฐสภา อีก 63 เสียง (ส.ส.+ส.ว.) ซึ่งจะได้ 376 เสียง เพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยขณะนี้ ส.ว.ที่ประกาศจะโหวตให้พรรคที่รวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง มีจำนวนหนึ่ง อาทิ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ นายภัทรา วรามิตร นายมณเฑียร บุญตัน นายส่งเดช เสมอคำ นายวันชัย สอนศิริ
ล่าสุด นางประภาศรี สุฉันทบุตร ได้โพสต์ประกาศจุดยืนว่า เคารพมติของประชาชน เห็นชอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะยกมือโหวตให้นายกฯ จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเสียงข้างมาก
ขณะที่มี ส.ว.บางส่วนยังทีท่าทีจะโหวตให้ แต่มีเงื่อนไข ชัดเจนว่า ต้องไม่แก้กฎหมาย ม.112 เช่น นพ.อําพล จินดาวัฒนะ ที่โพสต์ว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะโหวตอย่างไร นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ส.ว.ร้อยเอ็ด ที่ระบุว่าจะโหวตให้ถ้าไม่แตะต้อง ม.112 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ที่ขอกำหนดเงื่อนไข 2 ข้อ 1. มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร 2. มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไรก่อนจะโหวตให้