วันนี้(18 พ.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล นอกจากการเรียกจับมืออย่างเร่งรีบกับ 5 พรรคการเมืองคือ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม แล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวจากแกนนำสำคัญของพรรคก้าวไกล คือนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แล้ว ที่เล่นบทต่อสายถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ช่วยกันล็อบบี้โน้มน้าว ส.ว.ให้หันมายกมือโหวตสนับสนุนให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากการให้สัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ยอมรับว่า พรรคเพื่อไทย ไม่แข่งกับพรรคก้าวไกล ตั้งรัฐบาล ตรงกันข้ามในส่วนของตนเองจะทำอย่างไรให้มีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ตนคิดว่าคงไม่ได้ใช้บริการ ส.ว.ทั้งหมด โดยมองว่า 30 เสียงของส.ว. ก็น่าจะตั้งรัฐบาลได้แล้ว
“ขณะนี้ตนได้เห็นทิศทางของ ส.ว.เริ่มสนับสนุน พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากแล้ว โดยมีประกาศผ่านสื่อฯ มาแล้ว จำนวน 5 คน คือ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน และนายอำพน จินดาวัฒนะ ซึ่งตนก็ได้มีโอกาสพูดคุยหารือกับ ส.ว.อีก 1 คน ที่เป็นคนสุโขทัย คือ นายทรงเดช เสมอคำ โดยยืนยันว่า พร้อมที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ก็คือ พรรคก้าวไกล ที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ทำให้ตนมั่นใจว่า นายกฯ คนที่ 30 คือนายพิธา อย่างแน่นอน”
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายใต้การประสานล็อบบี้ของนายสมศักดิ์ และนายสุริยะ ดังกล่าว ทำให้ขณะนี้มีการเปิดรายชื่อ ส.ว. จำนวน 12 คน ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนพร้อมโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ได้แก่ 1. วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 2. นพ.อำพล จินดาวัฒนา 3.ภัทรา วรามิตร 4.ทรงเดช เสมอคำ 5. วัลลภ ตังคณานุรักษ์ 6. วันชัย สอนศิริ 7.เฉลิมชัย เฟื่องคอน 8.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล 9.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 10.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล 11.ประมาณ สว่างญาติ และ 12.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
“ทางการเมืองไม่มีใครปฎิเสธหรือแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล เพราะถือเป็นผู้ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่ง แต่การจะเหมารวมว่ากรณีมีคะแนนเสียง 151 เสียง ถือเป็นเสียงข้างมากคงไม่ใช่ เพราะต้องหันไปมองจำนวนประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ดังนั้นกรณีที่นายพิธา หรือแกนนำพรรคก้าวไกลจะไปกดดันให้ ส.ว.ที่เห็นต่าง หรือส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นต้องจำยอมมาโหวตให้นายพิธาคงจะไม่ชอบธรรมนัก เพราะต้องเคารพเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคอื่นที่มีแคนดิเดตนายกฯที่เขาชื่นชอบด้วย ที่สำคัญพรรคก้าวไกล อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมาตลอด แต่พอมีกระแสของส.ว.อาจจะงดออกเสียง หรือไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ แทนที่จะเคารพในจุดยืนหรือแนวคิดของคนเหล่านั้น แต่กลับจะไปกดดันหรือบีบให้คนโน้นคนนี้มาโหวตให้ ถือว่าไม่สง่างามและเป็นประชาธิปไตยจอมปลอมเสียเอง”แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามถึงนายสมศักดิ์ และนายสุริยะ รวมถึงพรรคการเมืองที่เคยโอ้อวดยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงมุ่งแต่จะเป็นฝ่ายรัฐบาลและหวังได้ตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีตอบแทน มากกว่าละเลยดูเรื่องร้อน เกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่สังคมจับตามองมากที่สุดคือการแก้มาตรา 112 เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่มากเกี่ยวกับสถาบันที่ชาวไทยเทิดทูนและยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยทั้งชาติมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว