xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิธา” ประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน เป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน ตั้งทีมเจรจรารายละเอียดพร้อมเปิดเอ็มโอยูร่วมรัฐบาล 22 พ.ค.นี้
.
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งจากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ มีจำนวนผู้แทนราษฏรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน
.
นายพิธา กล่าวว่า พวกเราทุกพรรคขอขอบคุณทุกเสียงที่ประชาชนมอบให้ เสียงของประชาชนทุกเสียง คือ เสียงแห่งความหวัง คือ เสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน
.
ทุกพรรคขอประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนร่วมกัน ด้วยความเคารพในฉันทามติของประชาชน ดังนี้
1. ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
2. ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
3. ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ
.
หลังจากนั้น เปิดให้สื่อมวลชนถามคำถาม โดยพิธาให้ความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและโดยราบรื่น จำนวน 313 เสียง มีความเพียงพอและเป็นความปกติของระบอบประชาธิปไตย
.
ขณะนี้ คณะทำงานทั้ง 2 ทีม ได้แก่ คณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจ ได้เตรียมการวางแผนในหลายรูปแบบว่าจะมีฉากทัศน์ใดเกิดขึ้นบ้าง แต่ละฉากทัศน์จะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพิจารณาว่าจุดยืนและนโยบายของทุกพรรคการเมือง จะทำงานร่วมกันอย่างไรโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง กระบวนการทั้งหมดจะคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วง ทุกพรรคการเมืองสามารถสานต่อนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน
.
สำหรับความเห็นของ ส.ว. หลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะโหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรนั้น พิธากล่าวว่าขอขอบคุณ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร แต่เป็นเรื่องของระบบ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด










กำลังโหลดความคิดเห็น