ล้อมคอก! “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กท้องถิ่น” สถ.สั่ง อปท.จัดกิจกรรมอย่างโปร่งใส เน้นระบบ “ค่าใช้จ่ายรายหัวฉบับใหม่” ตามวงเงินอุดหนุน 1.5 หมื่นล้าน หลัง สตง.ชำแหละระบบศึกษาท้องถิ่น ผ่านการใช้งบประมาณรัฐ ตามนโยบายพัฒนาการศึกษาปฐมวัย ผ่านตัวอย่าง 7 พันแห่ง พบ หลายแห่งจัดสรร/โอนงบสูงกว่าจำนวนเด็กที่มีอยู่จริง แถมมีการโอนจัดสรรงบให้ศูนย์ฯ ไม่เข้าหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุน
วันนี้ (8 พ.ค.) มีรายงานจากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เวียนหนังสือถึงท้องถิ่นจังหวัด ทั่วประเทศ
ให้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน) ที่เพิ่งได้รับจัดสรรงบประมาณค่ากิจกรรม พัฒนาคุณภาพผู้เรียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
เป็น งบประมาณประจำไตรมาสที่ 3 เพิ่มเติม (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2566) ทั้ง 76 จังหวัด กว่า 4 พันล้านบาท จากวงเงินอุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2566 รวมกว่า 15,399 ล้านบาท
“สถ. สั่งการให้จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกกิจกรรม เช่น วิชาการ คุณธรรมจริยธรรม ทัศนศึกษา และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยจัดทำโครงการในแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณของสถานศึกษา ให้ชัดเจนและครบถ้วน”
โดย สถ. สั่งการให้ อปท. ทุกแห่ง ดำเนินการตาม “ค่าใช้จ่ายรายหัวฉบับใหม่” ตามแนวทางการบริหารงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และแนวทางการบริหารงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
เมื่อต้นปี 2565 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ การดำเนินงานการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของ อปท.
โดยมีข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะ “เงินอุดหนุนทั่วไป พบว่า ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ของการส่งเสริมศักยภาพการจัดการศึกษาท้องถิ่น
ตามแนวทางการบริหารงบประมาณรายการเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และรายการเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน)
สำหรับรายงานดังกล่าว สตง.ตรวจสอบผ่านสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัยหรือโรงเรียน
อนุบาล 17 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 77 แห่ง จากตัวอย่าง อปท. 94 แห่ง ใน 8 จังหวัด แพร่ พิษณุโลก สกลนคร อุบลราชธานี อ่างทอง ระยอง สงขลา และภูเก็ต
จากกว่า 7,800 แห่งในสังกัด อปท.ทั่วประเทศ ที่ได้จัดสรรค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของ อปท. ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับสถานศึกษาในสังกัด อปท.
จากตัวอย่างการตรวจสอบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยของ อปท. ซึ่ง สตง . พบว่า ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติใน 4 รายการ ได้แก่
เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนอนุบาล เงินอุดหนุนสำหรับส่งเสริมศักยภาพการจัดการศึกษาท้องถิ่นของโรงเรียนอนุบาล
เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนค่าจัดการเรียนการสอน และค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ของ อปท.
จากการสุ่ม 94 แห่ง พบว่า อปท. 22 แห่ง ได้รับงบประมาณโอนจัดสรร รวมทั้งสิ้น 35,291,697.00 บาท ซี่งในแต่ละแห่งมีแนวทางการปฏิบัติสำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปด้านการจัดการศึกษาทั้ง 4 รายการ ที่แตกต่างกัน
กล่าวคือ มี อปท. บางแห่งดำเนินการเบิกหักผลักส่งเงินอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับจัดสรรเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามสถานศึกษาครบถ้วนทั้งจำนวน รวมเป็นเงิน 29,871,384 บาท
ในขณะที่บางแห่งไม่ดำเนินการ และบางแห่งเบิกหักเป็นบางส่วน รวม 5,420,313 บาท โดย อปท. มีเงินเหลือจ่ายมากถึง 3,558,766.26 บาท
เห็นได้ว่า การจัดสรรค่าใช้จ่ายดังกล่าว ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติส่งผลกระทบท าให้สถานศึกษาในสังกัด อปท. เสียโอกาสที่จะนำงบประมาณไปพัฒนาด้านการจัดการศึกษาให้เด็กปฐมวัย
โดยมีสาเหตุสำคัญเกิดจาก อปท. ส่วนใหญ่ จะเบิกหักผลักส่งเงินอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับจัดสรรให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นบางส่วน โดยเบิกหักผลักส่งเงินให้สถานศึกษาเท่ากับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่จริงในปีการศึกษานั้นๆ
และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ของ อปท. ส่วนใหญ่ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกหักผลักส่งเงินอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับจัดสรรให้สถานศึกษาในสังกัด
รวมทั้งสถานศึกษาบางแห่งในสังกัด อปท. ขาดความพร้อมด้านบุคลากรที่จะทำหน้าที่ด้านการเงินและการคลัง และหรือขาดความพร้อมของหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
สตง. ยังเปรียบเทียบเอกสารการโอนจัดสรรงบปี62 และ 63 ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 42 แห่ง พบว่าในปี 2562 อปท. 10 แห่ง ได้รับงบโอนจัดสรร 2,028,350 บาท จากจำนวนเด็ก 1,795 คน
“มีการโอนจัดสรรงบสูงกว่าจำนวนเด็กที่มีอยู่จริงในระบบ CCIS เป็นจำนวนมากถึง 380 คน รวมเป็นเงิน 429,400 บาท”
ในปีงบ 63 อปท. ที่สุ่ม 10 แห่ง ได้รับงบ 1,488,210 บาท จากจำนวนเด็ก 1,317 คน มีการโอนจัดสรรงบใน 8 อปท. ซึ่งพบว่า ต่ำกว่าจำนวนเด็กที่มีอยู่จริงในระบบ CCIS เป็นจำนวน 108 คน รวมเป็นเงิน 122,040.00 บาท
“และมีการโอนจัดสรรงบประมาณให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีเด็กอายุไม่ถึง 3-5 ปี หรือมีเฉพาะเด็กอายุ 2 ปี ซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว จำนวน 5 แห่ง ในสังกัด อปท. จำนวน 3 แห่ง”
การจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่จัดสรรให้เด็กปฐมวัยที่มีอายุไม่ถึง 3-5 ปี เป็นเงิน 429,400 บาท และงบประมาณที่จัดสรรให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีเฉพาะเด็กอายุ 2 ปี เป็นเงิน 138,990 บาท
นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้วันตัดยอดเพื่อคำนวณอายุเด็กไม่เป็นแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ อปท. บางแห่ง มีการคำนวณอายุเด็ก 3-5 ปี
“โดยใช้วันตัดยอดอายุเด็ก ณ ก่อนวันเปิดเทอม บางแห่ง ณ วันเปิดเทอม บางแห่ง ณ หลังวันเปิดเทอม และบางแห่ง ณ วันที่ อปท. โอนเงินให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งผลทำให้การนับอายุเด็กของแต่ละ อปท. ไม่เท่ากัน”
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลอุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 13,634,681,700 บาท อุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 562,548,000 บาท
ปี 2564 อุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 13,634,681,700 บาท อุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 562,548,000 บาท
ปี 2565 อุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 14,697 ล้านบาท และอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,455 ล้านบาท
ล่าสุด ปี 2566 อุดหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 15,399 ล้านบาท และอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,433 ล้านบาท.