บอร์ด รฟท.เห็นชอบผลบริการสาธารณะ (PSO) ปี 65 ขาดทุน 7,587 ล้านบาท ขณะที่คลังเคาะอุดหนุน 3,278 ล้านบาท “นิรุฒ” เผยช่วงโควิดผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าเกือบ 50% และยังเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนจริง คาดปี 66 ขาดทุนกว่า 7,823 ล้านบาท ลุ้นเดินทางฟื้นดันรายได้เพิ่ม ผ่านครึ่งปียอดกว่า 9 ล้านคน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานการให้บริการสาธารณะ ประจำปี 2565 (ต.ค. 2564-ก.ย. 2565) ซึ่ง รฟท.ได้สรุปรายละเอียดเพื่อเสนอขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) และเร่งนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายในวันที่ 15 พ.ค. 2566
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในปี 2565 รฟท.ต้องปรับลดขบวนรถในการให้บริการลงตามสถานการณ์ ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารลดลง จากที่ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารที่ 24.222 ล้านคน แต่มีผู้โดยสารจริง 12.372 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.849 ล้านคน
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนบริการสาธารณะนั้น คำนวณจากส่วนต่างของรายได้และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการ ที่รฟท.ไม่สามารถปรับค่าโดยสารได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งที่มาของรายได้จาก ระยะทางในการให้บริการ ปริมาณขบวนรถไฟต่อวัน รวมไปถึงจำนวนผู้โดยสาร เป็นต้น ส่วนต้นทุนมีทั้ง ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ค่าเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายบุคลากร ฯลฯ และต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ และยังมีต้นทุนทางอ้อมอีก เช่น ค่าโครงสร้างพื้นฐาน ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอของ รฟท.ในการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะในปี 2565 จากประมาณการรายได้และต้นทุนในการดำเนินการ จำนวน 7,587.52 ล้านบาท โดยจัดทำข้อเสนอฯ ตามคู่มือ การขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2554 ข้อ 14 (ระเบียบเงินอุดหนุนฯ) ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาผลการดำเนินงาน ขาดทุนปรับปรุงเป็น 4,246.74 ล้านบาท โดยหลัง สคร.นำเข้าหลักเกณฑ์ชดเชยตาม พ.ร.บ.ปรับวงเงินอุดหนุนในบันทึกข้อตกลง MOU เป็น 3,278.86 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะแบ่งจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 รับอุดหนุน 50% ของวงเงินอนุมัติ ภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลง จำนวน 1,639.43 ล้านบาท งวดที่ 2 รับอุดหนุน 20% ของวงเงินอนุมัติ จำนวน 655.77 ล้านบาท ภายหลังจากคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะให้ความเห็นชอบ ผลการดำเนินงานประจำงวดครึ่งปี
ส่วนงวดที่ 3 รับอุดหนุน 30% ของวงเงินอนุมัติ ภายหลังจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะกำหนด เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะภายใน 45 วัน หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบงบการเงินปี 2565 แล้วเสร็จ หาก รฟท.ไม่สามารถนำส่งรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะมีสิทธิที่จะพิจารณาไม่จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับงวดที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายที่เหลือ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2563 รฟท.เสนอขอรับเงินอุดหนุนที่ 7,026.07 ล้านบาท พิจารณาหลักเกณฑ์ชดเชยปรับวงเงินอุดหนุน ทำ MOU ที่ 3,238.68 ล้านบาท ได้รับจริงจำนวน 2,522.19 ล้านบาท ปี 2564 เสนอขอรับเงินอุดหนุนที่ 7,078.97 ล้านบาท พิจารณาหลักเกณฑ์ชดเชยปรับวงเงินอุดหนุน ทำ MOU ที่ 2,886.65 ล้านบาท ได้รับจริงจำนวน 2,279.68 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 เสนอขอรับเงินอุดหนุนที่ 7,823.74 ล้านบาท รอการพิจารณาหลักเกณฑ์ชดเชยปรับวงเงินอุดหนุน ทำ MOU และปี 2567 คาดเสนอขอรับเงินอุดหนุนที่ 8,450.93 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานการให้บริการเชิงสังคม ในปี 2560-2565 ของ รฟท. พบว่าปี 2560 มีผู้โดยสารจำนวน 23.53 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 354.05 ล้านบาท ปี 2561 มีผู้โดยสารจำนวน 25.42 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 289.08 ล้านบาท ปี 2562 มีผู้โดยสารจำนวน 25.44 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 280.69 ล้านบาท ปี 2563 มีผู้โดยสารจำนวน 18.71 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 207.02 ล้านบาท ปี 2564 มีผู้โดยสารจำนวน 10.95 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 116.49 ล้านบาท ปี 2565 มีผู้โดยสารจำนวน 12.37 ล้านคน มีรายได้จากค่าโดยสาร 143.52 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ช่วงครึ่งปี (ต.ค. 65- มี.ค. 66) มีผู้โดยสารจำนวน 9.06 ล้านคน