xs
xsm
sm
md
lg

สตง.พบข้อกังวลเบิกจ่าย 2 โครงการแจกเงินกู้สู้โควิด ช่วงต้น รบ.ลุงตู่ ชี้เป้า “ค่าเสี่ยงภัย อสม.-เราไม่ทิ้งกัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.พบข้อกังวล 2 โครงการแจกเงินกู้สู้โควิด รบ.ลุงตู่ หลังตรวจแจกเงิน อสม. รอบปี 63 กว่า 9.9 พันล้าน จากงบกลาง/เงินกู้ แม้ได้ขวัญกำลังใจเต็มๆ แต่ “การเบิกจ่าย” ไม่เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ในหลายโครงการ แถมตรวจหลักฐานเบิกจ่าย กว่าร้อยละ 43.15 ไม่พบรายงานผลการปฏิบัติงาน แม้ จนท.ยืนยันรายชื่อ ว่า อสม.ทุกคนมีสิทธิ ส่วนเงินแจก “เราไม่ทิ้งกัน” หัวละหมื่นห้า ยันเสียดายกว่า 407 ล้าน ทั้งยังพบ “คนรัฐยากจน” หลายหน่วยงาน ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ

วันนี้ (7 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน

ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากกรอบ “วงเงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท”

จำนวน 2 โครงการ ค่าเสี่ยงภัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา

การตรวจสอบที่น่าสนใจ โครงการแรก เงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. 500 บาทต่อคนต่อเดือน รวมกว่า 9,924.16 ล้านบาท

ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 ผ่าน “งบกลาง” จากงบปกติ ปี 2563 และเงินกู้โควิด-19

จากการพิจารณาเอกสารผลการเบิกจ่าย ช่วงเดือนมีนาคม 2563 - กันยายน 2564 พบว่า กรมบัญชีกลางได้เบิกจ่าย 9,841.06 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.16 ของวงเงินทั้งหมดที่มีการอนุมัติ (จำนวน 9,924.16 ล้านบาท) คงเหลือจำนวน 83.10 ล้านบาท

ตรวจสอบผ่านจำนวนร้อยละของ อสม. ที่ได้รับเงินค่าตอบแทน เป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ ซึ่งมิใช่ตัวชี้วัดที่มีคุณสมบัติที่ดีในการวัดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

“เห็นได้ว่าไม่มีความเชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์ สอดคล้องใดๆ กับวัตถุประสงค์ของโครงการ”

อีกทั้ง การนำกิจกรรมการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน มาเป็นกิจกรรมในการดำเนินโครงการเพียงกิจกรรมเดียว และไม่สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์โครงการ โดยเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศหรือหนังสือสั่งการ

ยังพบว่า การเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม. เป็นเพียงกิจกรรมเดียวในโครงการที่ใช้จ่ายเงินทั้งจากเงินงบกลาง และเงินกู้

“การเบิกจ่ายดังกล่าว จึงไม่ส่งผลหรือเชื่อมโยงต่อการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ส่งผลด้านขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน หรือ อสม.เท่านั้น”

โดยมิได้มีกิจกรรมอื่นใดในโครงการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมถึงการเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของ อสม. เพื่อให้ อสม. มีบทบาทได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แม้ผลการปฏิบัติงานของ อสม.

บางส่วนอาจสอดคล้องตามวัตถุประสงค์บางประการ แต่ก็มิอาจวิเคราะห์เชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโครงการหรือการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ อสม.

ดังนั้น จึงส่งผลต่อประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินทั้งหมดโดยยังไม่บังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ขณะที่การตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย กลับขาดการระบุถึงรายละเอียดของเอกสารฯ จากกรณีปกติของ อสม. ที่ใช้ประกอบการพิจารณาการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน

ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ ยืนยันรายชื่อ อสม. ที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ลงในระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare)

“โดยไม่ได้มีการพิจารณาถึงผลการปฏิบัติงาน หรือหลักฐานอื่นใด ที่แสดงถึงการปฏิบัติงานในภาระงานด้าน โควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นของ อสม.“”

และเมื่อพิจารณาประกอบกับการตรวจสอบเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. (แบบ อสม.1) ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าป่วยการ ของหน่วยบริการสาธารณสุขที่สุ่มตรวจสอบจำนวน 12 แห่ง

พบว่า แบบ อสม.1 ของหน่วยบริการสาธารณสุข 5 แห่ง ไม่มีการรายงานผลการปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโควิด-19

เมื่อตรวจวทาน ระบบสารสนเทศ “งานสุขภาพภาคประชาชน” www.thaiphc.net ของกองสนับสนุนบริการสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า

จาก 5 รายงาน พบความ “ไม่ครบถ้วนในการรายงานผลในทุกรายงาน” โดยการรายงานผลการปฏิบัติงานในกิจกรรมการเฝ้าระวัง ของ อสม.

“ไม่พบการรายงานผลการปฏิบัติงาน ถึง ร้อยละ 43.15 ของจำนวน อสม. ทั้งหมดที่ได้รับเงินค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย”

ส่วนที่เหลือจำนวน 4 รายงาน ได้แก่ รายงาน อสม. เฝ้าระวัง แรงงานกลับบ้าน รายงานข้อมูลบทบาท อสม. วัคซีนโควิด-19 รายงานข้อมูลบทบาท อสม. พากลุ่มเป้าหมาย 608 ฉีดวัคซีนโควิด-19 และแยกกักรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

รายงานผลการดำเนินงานของ อสม. เทศกาลปีใหม่ 2565 ขับขี่ปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ พบว่า เป็นการรายงานข้อมูลในภาพรวมรายตำบล หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่มีการรายงานผลไม่ครบถ้วนทุกตำบลในทุกรายงาน

พบการรายงานน้อยที่สุดจำนวน 846 ตำบล จากตำบลทั้งหมด 7,256 ตำบล ในรายงานผลการดำเนินงานของ อสม. เทศกาลปีใหม่ 2565 และมากที่สุดจำนวน 6,380 ตำบล จากตำบลทั้งหมด 7,256 ตำบล ในรายงานข้อมูลบทบาท อสม. วัคซีนโควิด-19

สตง. สรุปว่า การจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน มีสาระสำคัญไม่เป็นไปตามที่กำหนดในข้อเสนอโครงการ ส่งผลกระทบ “ทำให้ขาดหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนของโครงการ” และไม่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานด้าน โควิด-19 ของ อสม.ได้

และเกิดความเสี่ยงในการเบิกจ่ายเงิน ให้กับ อสม. ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงตามภาระงานด้าน โควิด-19 ที่กำหนด ส่งผลต่อการจ่ายเงินงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขาดข้อมูลสำคัญในระบบสารสนเทศงานสุขภาพภาคประชาชน www.thaiphc.net เพื่อสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการจ่ายเงินในภาระงานด้าน โควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นของ อสม. ได้อย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องตามความเป็นจริง เป็นต้น

ส่วนการตรวจสอบเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการ ด้วยการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน/3 เดือน 24 มีนาคม - 30 มิถุนายน 2563 เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 16 ล้านคน วงเงินจำนวนไม่เกิน 240,000 ล้านบาท

จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับเงิน 15,268,597 ราย เปรียบเทียบกับข้อมูลผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 1 เมษายน 2563 จำนวน 10,717,784 ราย ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชุดเดียวกันกันที่ สศค. ใช้ในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

สตง.พบ “ข้อจำกัด” ในการดำเนินการตรวจสอบย้อนหลัง (Post Audit) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ สศค. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ใน 213 หน่วยงานรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โดยมีหน่วยงานที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบย้อนหลัง 16 หน่วยงาน และให้ความร่วมมือ 197 หน่วยงาน จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าการตรวจสอบย้อนหลัง (Post Audit) ของ สศค. ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการ

โดย สศค. ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ในการรวบรวมและจัดส่งข้อมูลข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในสังกัด เพื่อให้ สศค. ดำเนินการตรวจสอบย้อนหลัง

“รวมถึงการที่หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ยืนยันว่า “มีบุคลากรในสังกัดไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการ” โดยไม่ได้ส่งมอบข้อมูลให้ตรวจสอบ อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนหลังขาดความน่าเชื่อถือ”

เมื่อการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่มีคุณสมบัติ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่ “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” กำหนด มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในกระบวนการดำเนินงานต่างๆ

อันได้แก่ การคัดกรองตรวจสอบสิทธิของผู้ลงทะเบียนมีข้อผิดพลาด และการขาดฐานข้อมูลที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณโดยไม่สมควรเป็นจำนวนเงิน 407,415,000 บาท และเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการแก้ไขปัญหา

ตามวัตถุประสงค์ที่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินได้กำหนดไว้.


กำลังโหลดความคิดเห็น