สตง.ชำแหละ! เงินเยียวยาพิเศษ ลง"บัตรคนจน" หัวละ 3 พัน ช่วงโควิด-19 จากเงินกู้หนึ่งล้านล้าน รวมกว่า 3.4 พันล้าน พบผู้ได้รับสิทธิ "ซ้ำซ้อน" ได้เงินเยียวยาจากภาครัฐมากกว่า 1 โครงการ กว่า 5,574 ราย วงเงิน 16.7 ล้าน เฉพาะเกษตรกร "ถือบัตรคนจน 4,438 ราย" ได้รับเงินช่วยเหลือซ้ำจากโครงการเกษตรกรฯ
วันนี้ (5 เม.ย.2566) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชน
ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากกรอบ "วงเงินกู้หนึ่งล้านล้านบาท"
โดยเฉพาะ "โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ บัตรคนจน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ดำเนินการโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง วงเงินงบประมาณ 3,492,666,000 บาท
เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เป็น "ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการช่วยเหลือเยียวยาอื่นใดของภาครัฐ ในช่วงโควิด-19
โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา 1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 3,000 บาทต่อคน ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย 1,164,222 คน เริ่มโครงการตั้งแต่ 4 ก.ค.2563
พบการตรวจสอบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินช่วยเหลือ จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลผลการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาฯ "ผู้มีบัตรครจน" 1,026,757 ราย กับข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการอื่นของรัฐ
"กล่าวคือผู้ได้รับสิทธิช่วยเหลือเยียวยา 1 ราย ไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐมากกว่า 1 โครงการ ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาไปโดยไม่สมควร"
ไม่พบว่า ผู้มีบัตรฯ รายใด ได้รับเงินช่วยเหลือใน "โครงการเราไม่ทิ้งกัน"
มีผู้มีบัตรฯ 4,438 ราย ได้รับการช่วยเหลือตาม "โครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯ" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีเพียง 5 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรฯ (ข้อมูลปี 2565)
ยังพบว่า ผู้มีบัตรฯ 114 ราย ได้รับการช่วยเหลือ ตาม "โครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางฯ" ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สตง. ยังนำ ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปเปรียบเทียบกับ ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยจากกองทุนประกันสังคม ปี 2563 (ช่วงโควิด-19) 446,393 ราย
พบว่ามี ผู้ถือบัตรฯ เพียง 124 ราย ได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานฯด้วย
ส่วนผู้มีบัตรฯ 196 ราย ได้รับการช่วยเหลือ ตามโครงการมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ "ว่างงาน" ปี 2563 จากจำนวน 13,930 ราย
"เป็นผลทำให้เกิดการจ่ายเงินให้แก่ "ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ไปโดยไม่สมควร อย่างน้อยจำนวน 5,574 ราย เป็นเงิน 16,722,000 บาท และภาครัฐเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าว ไปใช้ในการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานอื่น"
อย่างไรก็ตาม สตง.มีข้อเสนอแนะ ต่อ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เมื่อรับทราบและดำเนินการแล้ว.
โดยเฉพาะ เสนอข้อสั่งการให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ สตง.สอบพบว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้มีบัตรบางราย เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
รวมถึง ดำเนินการทบทวนและสรุปประเด็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลหรือแนวทางสำหรับการดำเนินโครงการที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคต.