xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แจงแนวคิด “โครงสร้างพื้นฐานชุมชน” มุ่ง “ให้เบ็ด” ไม่ใช่ “ให้ปลา” กระตุ้นประชาชนคิดเองทำเอง หาจุดแข็งสร้างความสามารถแข่งขัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” แจงแนวคิด “โครงสร้างพื้นฐานชุมชน” จัดงบให้ อบต.แห่งละ 30 ล้าน และ อบจ.แห่งละ 100 ล้าน 5 ปีต่อเนื่อง มุ่ง “ให้เบ็ด” แก่ประชาชนไม่ใช่ “ให้ปลา” เป็นโมเดลกระตุ้นให้ประชาชนคิดเองทำเอง มองหาจุดแข็งของตัวเอง สร้างความสามารถการแข่งขัน เลิกแนวคิดให้นายกฯ เป็นพระเอกขี่ม้าขาวคนเดียว เตรียมนัดหารือสมาคม อบต.- นักวิชาการ ลงรายละเอียด

วันนี้ (27 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ แนวคิดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานชุมชน มีรายละเอียด ดังนี้

1. รัฐบาลหน้าจะเจอปัญหาว่า สงครามเย็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเข้มข้นขึ้นไปตลอด จะกระทบการค้าของโลก และของไทย

2. กระแสโลกาภิวัตน์จะอ่อนลง จะกระทบประเทศในเอเชียที่ใช้กระแสนี้ดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมจากตะวันตก

3. การค้าภูมิภาคนี้จะเร่งตัวขึ้น โดยจีนเป็นศูนย์กลาง ทุกประเทศในอินโดจีนจะต้องหาทางค้าขายกับจีนที่หลากหลายขึ้น เช่น ในระดับผู้ขายรายย่อย ขายตรงให้แก่ผู้ซื้อในจีน โดยใช้ระบบโซเชียลมีเดีย

4. รัฐบาลหน้าจึงมีหน้าที่ กระตุ้นให้คนไทยทุกระดับ คิดหาวิธีปรับตัวเพื่อรับมือกับพลวัตโลกเหล่านี้

5. โมเดลโบราณที่รัฐบาลเก่งทุกอย่าง คิดแทนคนไทยได้ทุกคนนั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องเลิกแนวคิดที่จะมีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นพระเอกขี่ม้าขาวอยู่คนเดียว

6. ต้องเปลี่ยนโมเดลเป็นกระตุ้นให้ประชาชนคิดเองทำเอง มองหาจุดเด่นของตนเอง ทำอย่างไรตนเองและชุมชนของตน จะมีความสามารถในการแข่งขัน (competitive advantage) สูงขึ้น

7. แนวคิดนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลหน้า มอบวงเงินให้แก่ อบต. แห่งละ 30 ล้านบาทต่อปี ให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี และให้แก่ อบจ.แห่งละ 100 ล้านบาทต่อปี

8. เป้าหมายคือ ให้คิดทำโครงสร้างพื้นฐานชุมชนระดับนาโน ที่จะตอบโจทย์เฉพาะสำหรับชุมชน (tailor made) โดยการลงทุนจะต้องได้ผลยั่งยืน รัฐให้เงินไป 100 ชุมชน จะต้องไปต่อยอดให้เป็น 150 เป็น 200

9. โครงการจะมีความหลากหลาย เช่น รถยนต์ตัดอ้อย เพื่อลดการเผาอ้อยซึ่งสร้างปัญหาฝุ่น PM 2.5 เครื่องมือเกษตรที่เป็นของชุมชน โรงสีข้าวของชุมชน โรงบรรจุหีบห่อสินค้าโอทอป ฯลฯ

10. เงินจำนวนนี้ จะเป็นจำนวนต่างหากจากงบประมาณปกติ และจะห้ามมิให้นำไปใช้เป็นเงินเดือน โครงการฝึกอบรม โครงการดูงาน หรือรายจ่ายประจำ

11. แหล่งเงินสำหรับโครงการนี้ จะต้องใช้วิธีกู้เงินยอดใหม่ เพิ่มหนี้สาธารณะ วงเงินโดยรวมตลอดห้าปีจะอยู่ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท

12. ถึงแม้จะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นหนี้ที่นำไปก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน ซึ่งจะเพิ่มรายได้ภาษีแก่รัฐในที่สุด

13. แนวคิดนี้ คือหลักการ “ให้เบ็ด” ฝึกให้คนไทยแข็งแกร่ง ยืนบนขาตนเอง ตามศาสตร์ของพระราชา โดยแต่ละชุมชนร่วมกันพิจารณาว่าเครื่องมือใดเหมาะสมที่สุด จัดโครงการเรียงตามลำดับความเร่งด่วน

14. แนวคิดนี้ ไม่ใช่หลักการ “ให้ปลา” ซึ่งฝึกให้คนไทยรอคอยแต่ความช่วยเหลือจากรัฐ รอคอยแต่ให้รัฐเป็นผู้คิดแทนตน

15. ผู้ที่พิจารณาโครงการ จะเป็นคณะกรรมการหลายฝ่าย โดยที่ปรึกษาจะประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง จังหวัด วิทยาลัยท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน สาขาธนาคารของรัฐ วัด โรงเรียน ฯลฯ

16. กรณีที่มีการก่อสร้าง ก็ให้ใช้แรงงานท้องถิ่นมากที่สุด ให้นักเรียนอาชีวะท้องถิ่นมีบทบาทสูง

17. คณะกรรมการจะเห็นชอบโครงการ ก็ต้องชัดเจนว่า ท้องถิ่นจะสามารถเพิ่มรายได้อย่างไร หรือจะสามารถลดต้นทุนใด จะมีการเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือมูลค่าการท่องเที่ยว หรือไม่

18. อบต.ที่เสนอโครงการแล้วไม่ผ่าน ก็สามารถนำกลับไป หารือกันภายในชุมชน ดัดแปลงให้มีความชัดเจนมากขึ้น และนำกลับมาเสนออีกกี่รอบก็ได้

19. รัฐบาลจะจัดให้มีการเปรียบเทียบประกวด เพื่อให้เห็นตัวอย่างโครงการที่ดีเด่น และจะจัดให้หน่วยราชการ เช่น คลังจังหวัด สำนักงบประมาณ สตง. เข้าไปฝึกอบรม เพื่อให้รู้วิธีปฎิบัติตามระเบียบราชการที่ถูกต้อง

20. อบต.ที่จะมีสิทธิเสนอโครงการ จะต้องผ่านการประเมินก่อนว่า มีระบบการจัดทำบัญชีที่เชื่อถือได้ มีระบบการควบคุมภายใน มีระบบการจัดทำรายงาน

21. โครงการนี้จะเป็นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างระบบให้ท้องถิ่น พัฒนาการบริหารจัดการ พัฒนาระบบบัญชี พัฒนาระบบตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นการกระจายอำนาจที่มีความเป็นไปได้ มากกว่าจะใช้วิธีออกกฎหมาย โดยไม่มีกิจกรรมรองรับไว้ก่อน

***ผมกำลังจะนัดหารือกับสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย และจะปรึกษานักวิชาการในหัวข้อต่อไปนี้

ก. ทำอย่างไร โครงการจะสะท้อนความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

ข. ทำอย่างไร จะป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ดังเช่น การสร้างเสาไฟฟ้ารูปแบบพิสดาร ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง

ค. ทำอย่างไร โครงการนี้จะสร้างถาวรวัตถุที่มีการใช้งานกันจริง และมีระบบในการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และบริหารจัดการที่เหมาะสม

ง. สำหรับ อบต.ที่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริต จะต้องจำกัดสิทธิในการยื่นโครงการอย่างไร

จ. กระบวนการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า การดำเนินการเป็นไปตามโครงการจริง จะทำอย่างไร

ฉ. เมื่อ อบต.ดำเนินการโครงการที่หนึ่งเสร็จเรียบร้อย จะต้องมีการตรวจสอบให้ผ่านคณะกรรมการฯ เสียก่อน จึงจะมีสิทธิยื่นโครงการที่สอง วิธีการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร

ถ้าผู้อ่านท่านใดมีข้อแนะนำ โปรดอนุเคราะห์ผมด้วย ขอบคุณครับ
วันที่ 27 มีนาคม 2566
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น