xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ หารือสามฝ่ายกับนายกฯ ลาว-เมียนมา เร่งแก้มลพิษหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ หารือสามฝ่ายกับนายกรัฐมนตรีลาว และ เมียนมา มุ่งหน้าผนึกกำลังแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหา กำหนดผลลัพธ์ และเป้าหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ และความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสามประเทศ


วันนี้ (7 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายระหว่างราชอาณาจักรไทย นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรื่องการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน (ผ่านระบบ Video Conference) พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมการประชุมด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า

นายกรัฐมนตรีขอบคุณการประชุมร่วมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์การจัดการกับปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน และร่วมกันแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมในการรับมือกับสถานการณ์ เนื่องจากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยที่ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสามประเทศ เราจำเป็นต้องผนึกกำลังเพื่อช่วยกันและกันในการแก้ไขปัญหานี้

ในโอกาสนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส คณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนว่าเป็นผลจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอนุภูมิภาคแม่โขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2566 ทำให้มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง และเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุด (ระดับ 3) ทั้งนี้ ภาพรวมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 93 โดยเป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันคือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 5 เมษายน

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีไทย ที่มีบทบาทเด่นในประเด็นนี้ รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมวันนี้ ลาวเห็นด้วยที่ต้องมีความร่วมมือหาทางออกร่วมกัน โดยที่ลาวเห็นด้วยกับความร่วมมือในระดับอาเซียน และการเพิ่มการตระหนักรู้เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีเมียนมา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มความร่วมมือเพื่อควบคุม บริหารจัดการร่วมกัน เมียนมาจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และเชื่อว่า ความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และส่งผลเพื่อประโยชน์ในภูมิภาค

ในส่วนของนายกรัฐมนตรีไทยนั้น กล่าวว่า ไทยตระหนักถึงปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนและฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า เป็นปัญหาเร่งด่วน โดยเมื่อพิจารณาจากสาเหตุแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ 1. ปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขง/ตอนเหนือของอาเซียน (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเกิดขึ้นในหน้าแล้งของทุกปี (มกราคม-เมษายน) 2. ปัญหาหมอกควันทางตอนใต้ของอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี ปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนมีความรุนแรงมากจนกลายเป็นปัญหารุนแรงด้านสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อการท่องเที่ยวอันจะมีผลต่อรายได้ของประเทศ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ทุกปีไทยจัดประชุมถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง และจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง เช่น การให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดมลพิษจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เกษตร เช่น การส่งเสริมการหยุดเผาวัสดุและพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เช่น การควบคุมปัญหาไฟป่า การให้ความรู้แก่ประชาชน และการดับไฟป่า เป็นต้น

โดยไทยจัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567-2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษ ในระดับทวิภาคี ไทยร่วมมือกับมิตรประเทศมาโดยตลอด โดยได้ส่งมอบเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ให้ฝ่ายเมียนมาที่เมืองตองจี และท่าขี้เหล็ก เมื่อเดือนกันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ไทยสนับสนุนแก่ สปป.ลาว และเมียนมา ได้มีส่วนช่วยติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี

ในระดับภูมิภาค ไทยสนับสนุนข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 โดยเมื่อปี 2565 ไทยสามารถลดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากปี 2564 ได้ร้อยละ 61 และค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลงร้อยละ 27

ในระดับอนุภูมิภาค ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย สามารถลดจุดความร้อนได้จาก 139,098 จุด ในปี 2564 เหลือ 108,916 ในปี 2565 และรายงานข้อมูลสถานการณ์จุดความร้อนและการดำเนินการของไทย ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนทราบอย่างต่อเนื่องด้วย และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ไทยมีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงผนึกกำลังแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสามประเทศกระชับความร่วมมือ รวมถึงร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้

1. ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ เพื่อควบคุมมลพิษในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่

2. ใช้ประโยชน์จากกลไกในทุกระดับ ในระดับทวิภาคี ไทยจะเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนในระดับจังหวัด ในระดับอาเซียน ไทยจะเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมละรอบด้าน

3. แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหา รวมทั้งเพิ่มการช่วยเหลือเกษตรกรในการบริการจัดการของเสีย โดยแปรให้เป็นพลังงาน เช่น การทำโรงไฟฟ้า BCG เปลี่ยนของเสียให้เป็น ปุ๋ย ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซลให้กับประชาชน การทำโรงงานไบโอก๊าซขนาดเล็กตามชุมชนขนาดเล็ก ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และการแปรรูปกากที่เหลือจากการเกษตรเป็นวัสดุที่เป็นรายได้
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการวัดดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาคเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ และการแจ้งเตือน ตลอดจนเสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละประเทศที่รับผิดชอบในประเด็นการจัดการมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน หารือกันในช่วงบ่ายวันนี้ ต่อยอดผลลัพธ์จากการหารือนี้ พิจารณาแนวทางการรับมือ และการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การหารือในวันนี้เป็นความคาดหวังของประชาชน จะแก้ไขปัญหา กำหนดผลลัพธ์ และเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดจำนวนจุดความร้อนให้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อประชาชนของทั้งสามประเทศ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงมิตรภาพของสามประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ที่ทำให้ทั้งสามประเทศห่วงใย คำนึงถึงกัน ส่งกำลังใจให้กันเพื่อความสงบสุข ปลอดภัย และความผูกพัน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวฝากถึงประเด็นความร่วมมือระหว่างกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การสาธารณสุข ท่องเที่ยว การค้าชายแดน ป้องกันปัญหายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น