xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ม.อ หนุนเข้มกม.กัญชา-น้ำเมา จัดโซนนิ่ง-ปลดล็อคเวลาซื้อ-ขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการม.อ มองความเหมือนที่แตกต่างกม.คุมกัญชา-แอลกอฮอล์ หนุนรัฐคุมเข้มแต่ต้องยึดจุดสมดุลระหว่างสิทธิผู้บริโภคกับการอยู่ร่วมกันในสังคม จัดโซนนิ่งให้เหมาะสมกับบริบทสังคมที่แตกต่าง ชี้ขีดกรอบเวลาห้ามซื้อ-ขายน้ำเมา ล้าสมัย แนะควรปลดล็อค หรือผ่อนปรนในสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมตรวจสอบอายุของผู้ซื้ออย่างเคร่งครัด

ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนากฎหมายควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ” กล่าวว่า สังคมไทยควรมองทั้งประโยชน์และโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกัญชา แทนที่จะมองเพียงโทษอย่างเดียวจนทำให้ทั้งสองสิ่งนี้เป็นตัวร้ายในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ของสังคม โดยเราต้องยอมรับก่อนว่าสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกัญชาได้จริง แต่มีความพิเศษบางอย่างที่ต้องควบคุม และพิจารณาต่อไปว่าเราต้องควบคุมอะไรบางอย่างเพื่อลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อคนในสังคม แม้สินค้าทั้งสองนี้จะมีผลกระทบต่อสติสัมปชัญญะของผู้เสพ ซึ่งจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างสิทธิของผู้บริโภคกับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจุดสมดุลคือจุดที่ยากที่สุดว่าเราจะให้เสรีภาพในการเสพของผู้บริโภคมากแค่ไหน รัฐจะต้องควบคุมมากแค่ไหน ควบคุมอะไรบ้าง คือสิ่งที่ต้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด แต่ไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นโทษแต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อถามถึงสถานการณ์ล่าสุดของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในปัจจุบัน ผศ.สุรินรัตน์ ให้ความเห็นว่า รัฐยังมองสินค้าทั้งสองชนิดนี้ในระนาบเดียวกันโดยไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด เช่น กฎหมายแอลกอฮอล์ รัฐกำหนดเรื่องเวลาห้ามขายแบบเหมารวมทั่วประเทศโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสถานที่ ส่วนกฎหมายกัญชา รัฐก็ไม่ได้พิจารณาประเภทของอาหารที่ควรหรือไม่ควรใสกัญชา

“ภายใต้ความเหมือนนั้น สิ่งที่แตกต่างของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายกัญชา คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีการควบคุมมายาวนานแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนกัญชามีการปลดล็อคจากสถานะจากยาเสพติดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจ จริงๆ ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายทั้งคู่ เราควรมีการควบคุมกัญชามากกว่านี้ และต้องปล่อยแอลกอฮอล์มากกว่านี้”

ผศ.สุรินรัตน์ ยังเสนอให้จัดทำโซนนิ่ง ในกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน บางพื้นที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเชิงศาสนา บางพื้นที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เราก็อาจจะต้องจัดให้บางพื้นที่มีความเข้มงวดมากหน่อย บางพื้นที่มีเสรีมากหน่อย แต่มันจะมีค่ากลางแล้วก็บวกลบไปด้วยเหตุผลต่างๆ นอกจากการโซนนิ่งพื้นที่ ก็อาจจะมีการอนุโลมในเชิงเวลา เช่น การกินดื่มของชาวบ้านในงานบวชงานแต่ง ก็ต้องเอาเรื่องประเพณีวัฒนธรรมมาพิจาณาผ่อนปรนให้เขามากกว่าปกติ อันนี้คือโซนนิ่งที่จัดกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทางวัฒนธรรม แล้วก็ผูกกับตัววัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนพื้นที่อีกแบบที่อาจจะต้องมีการควบคุมดูแลก็คือพื้นที่ที่มีกิจกรรมของคนจำนวนมาก

"เมื่อเปรียบเทียบมาตราการการกำหนดโซนนิ่ง หรือบริเวณในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์กับประเทศอื่นๆ ประเทศสิงคโปร์ มีการกำหนดคำนิยามของพื้นที่สาธารณะ โดยใช้เกณฑ์การเข้าถึงของประชาชนและระบุว่าพื้นที่ใดบ้างจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและพื้นที่ใดบ้างสามารถดำเนินการได้ สอดคล้องของจุดประสงค์ของบริบทในแต่ละพื้นที่"

ผศ.สุรินรัตน์ กล่าวอีกว่า หากเป็นพื้นที่ที่มีตัวแปรมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เป็นทั้งพื้นที่ท่องเที่ยวและมีวัดหรือโรงเรียนตั้งอยู่ ก็ควรพิจารณาบริบทของผู้คนเป็นหลัก โดยประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเสรีนโยบายหรือกฎระเบียบใดๆ ในพื้นที่ ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ อันรวมถึงเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน หรือเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ความเชื่องมงาย

อย่างไรก็ตามผศ.สุรินรัตน์ แสดงความเห็นด้วยว่าวิธีคิดภายใต้ประกาศกำหนดเวลาห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. นั้นเก่าเกินไปแล้วและรัฐควรปลดล็อคเรื่องนี้ โดยอย่างน้อยที่สุดก็ในสถานที่ท่องเที่ยวควรผ่อนปรนต่อกฎหมาย อาจเปลี่ยนรูปแบบกฎหมายโดยกำหนดให้ผู้ขายและผู้ประกอบการมีหน้าที่ตรวจสอบอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกครั้งอย่างเคร่งครัด ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ขายหรือผู้ประกอบการในการควบคุมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ใช่สัดส่วนหารเท่า แต่ให้ผู้ประกอบการและผู้บังคับใช้กฎหมายร่วมกันทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น