xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เผยมายาคติกลับด้านของกัญชา ประชาชนจะหายป่วย แต่คนเฮงซวยจะขัดขวาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” ชี้ คำว่า “เฮงซวย” เหมาะกับสถานการณ์กัญชาขณะนี้ เพราะมีความไม่แน่นอน “ชูวิทย์” ต่อต้านกัญชาเสรี แต่ในโรงแรมมีร้านขายช่อดอกกัญชา พรรคภูมิใจไทย ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ โดยมีมาตรการควบคุม กลับถูกใส่ร้ายว่าต้องการกัญชาเสรี ส่วนพรรคการเมืองที่เล่นเกมสภาล่ม จนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ค้างเติ่ง ไร้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติมาควบคุมกัญชา ยังมีหน้ามาต่อต้านกัญชาเสรี

วันที่ 22 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต และโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ มายาคติกลับด้านของกัญชา ประชาชนจะหายป่วย แต่คนเฮงซวยจะขัดขวาง มีรายละเอียด ดังนี้

บทความต่อไปนี้ เป็นเรื่องความจริงที่จะต้องพิสูจน์แน่ว่า ใครกันแน่ที่เตะตัดขาเพื่อหวังกัญชาเสรี ใครกันแน่ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อออกกฎหมายควบคุมกัญชา

เพราะกัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์ก็ต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ด้านโทษก็ต้องออกมามีกฎหมาย “ควบคุม” ควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม คำว่า “เฮงซวย” น่าจะเหมาะกับสถานการณ์กัญชาในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมากที่สุด

เพราะคำว่า “เฮงซวย” เป็นศัพท์ที่พูดติดปากที่อ่านแบบภาษาจีนแต้จิ๋ว “兴衰” มาจากคำว่า “เฮง” คำหนึ่งซึ่งแปลว่า “โชคดี” ส่วน “ซวย” แปลว่า “เคราะห์ร้าย”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายว่าหมายหนึ่งที่เหมือนกับบทความนี้ว่า “เอาแน่นอนอะไรไม่ได้”

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้ที่ออกมารณรงค์คัดค้านกัญชาเสรีเพราะห่วงเด็กและเยาวชน อ้างว่า กัญชาต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น แต่โรงแรมของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กลับเปิดร้านทำธุรกิจขายช่อดอกกัญชาเพื่อพี้กัญชาเสียเองจนถึงปัจจุบัน และไม่เกี่ยวอะไรด้วยกับทางการแพทย์เลย

ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยทั้งในฐานะผู้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข พยายามดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาอยู่ใต้ดินมาถูกจัดระบบอยู่บนดิน และออกกฎหมายควบคุมกัญชาไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อออกกฎหมายควบคุมในหลายมิติ และทยอยดำเนินคดีความจับกุม ปรับ ดำเนินคดีอาญา และเพิกถอนใบอนุญาตผู้กระทำความผิด กลับถูกใส่ร้ายว่าต้องการกัญชาเสรี

ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดเพื่อผลักดันกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ คือ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชากลับถูกใส่ร้ายว่าต้องการให้มีกัญชาเสรีเช่นกัน

ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งเคยตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ของสภาผู้แทนราษฎร ศึกษาและมีผลสรุปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าเห็นสมควรให้ปลดล็อกกัญชา กัญชง กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด กลับมารณรงค์คัดค้านกัญชาเสรีในวันนี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ส.ส. พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ตลอดจนสมาชิกวุฒิสภา ต่างลงมติอย่างท่วมท้นเป็นเอกฉันท์ ให้กัญชาไม่ถูกระบุว่าเป็นยาเสพติดในประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่อีกต่อไป ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแตวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

ต่อมา 8 มิถุนายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามความเห็นชอบโดยมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด คงเหลือไว้แต่สารสกัด กัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก มีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิถุนายน 2565

พอถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ผู้ป่วยที่ใช้กัญชา “ทางการแพทย์” 3.85 ล้านคน ส่วนใหญ่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะหมอไม่จ่ายกัญชา นอกระบบสาธารณสุข 3.6 ล้านคน (95%) ใช้นอกข้อบ่งใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3.2 ล้านคน (83%) ไม่ต้องถูกจับกุมไปขังคุก รีดไถ สามารถปลูกเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ (ลดเสี่ยงสารพิษปนเปื้อน) สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ นักโทษคดีกัญชา 4,075 คนได้รับลดโทษ ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัว 3,071 คน

โดยก่อนหน้านั้น เมื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 เพื่อมาใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ แต่กว่าเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาได้ก็เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นชอบในวาระที่ 1 อย่างท่วมท้นเกือบเป็นเอกฉันท์ 372 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง จนเป็นที่มาในการตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน จาก 8 พรรค โดยมาจากพรรคภูมิใจไทยเพียง 3 คน

ต่อมา เมื่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แล้วเสร็จ เห็นควรให้เพิ่มจาก 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา เพราะได้นำมาตรการควบคุมสุรา บุหรี่ และกระท่อมมาประยุกต์ใช้ แต่ให้มีบทลงโทษเรื่องกัญชารุนแรงกว่ากรณีการขายหรือให้กับเยาวชน และการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ

แต่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ กลับถูกเตะตัดขา ถ่วงเวลากฎหมายควบคุมกัญชากัญชงทั้งระบบ ส.ส.ไม่เข้าประชุมจนสภาล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปิดสมัยประชุมสภาและยุบสภา ทำให้ พ.รบ.กัญชา กัญชง ต้องตกไปในที่สุด ส่งผลทำให้ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติควบคุมกัญชา กัญชงทั้งระบบ แต่พรรคการเมืองเหล่านี้กลับยังมีหน้าออกมาหาเสียงรณรงค์ต่อต้านกัญชาเสรีเสียเอง

ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะสามารถเลือกลงมติเห็นด้วยกับมาตราตามร่างเดิมที่เคยลงมติอย่างท่วมท้นเห็นด้วยกับพรรคภูมิใจไทยก็ได้

หรือจะเห็นด้วยกับที่มีการแก้ไขใหม่โดยคณะกรรมาธิการฯ (ซึ่งมาจากหลายพรรค) ก็ได้

หรือจะลงมติให้แก้ไขตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหรือ ส.ส.ที่สงวนคำแปรญัตติรายมาตราก็ได้

จะทางไหนก็ได้เพื่อให้ประชาชนได้มีกฎหมายในการใช้ประโยชน์และควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบ แต่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากของพรรคการเมืองต่างๆ กลับเลือกหนทางไม่เข้าประชุมทำให้สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ได้บังคับใช้ต่อไปใช่หรือไม่

และที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงโจมตีใส่ร้ายพรรคภูมิใจไทยว่าต้องการให้กัญชาเสรี ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านี้หวังทำสภาล่ม เพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์กัญชาเสรี แล้วยังจะมีหน้ามารณรงค์หาเสียงว่าพรรคการเมืองตัวเองคัดค้านกัญชาเสรีเสียอีก

การกระทำเช่นนี้เป็นการเห็นประโยชน์ของพรรคการเมืองเหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่?

แต่เมื่อเตะถ่วงกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับเกมการเมือง ได้อาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ในการประกาศให้ “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 และได้นำมาตรการการควบคุม ตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเอาไว้มาประยุกต์ใช้ทันที

ผู้ที่จะจำหน่าย “ช่อดอกกัญชา” ต้องได้รับอนุญาตทุกกรณี โดยมีเงื่อนไขคือ ห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร, ห้ามจำหน่ายให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา, ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการเว้นเพื่อทางการแพทย์, ห้ามขายผ่านเครื่องขาย, ห้ามขายออนไลน์, ห้ามโฆษณา, ห้ามจำหน่ายในวัด ศาสนสถาน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก ฯลฯ

ผู้ฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศฉบับนี้ได้รับคำชมจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า “ชาญฉลาด” ในการประยุกต์ใช้กฎหมายเพื่อควบคุม เพราะสามารถบังคับใช้ได้ทันที

และการบังคับใช้กฎหมายนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปตรวจร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2565 - 22 กุมภาพันธ์ 2566

โดยได้ตรวจใน กทม. ดำเนินการจับ ปรับ ดำเนินคดีความ 14 ราย พักใบอนุญาต 4 ราย และในภูมิภาค 6 จังหวัด ดำเนินการจับ ปรับ ดำเนินคดี 22 ราย พักใบอนุญาต 6 ราย จึงพิสูจน์ได้ว่ากฎหมายบังคับใช้ได้จริง เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติก่อนหน้านี้อีกหลายฉบับ เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การผลิต การควบคุมร้านอาหาร การห้ามนำเข้า โดยเฉพาะกฎหมายห้ามจำหน่าย ขาย หรือให้กับเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ ในเรื่องกัญชา กัญชงตั้งแต่แรก

ทั้งหมดนี้ขอให้ท่านผู้อ่านที่ “มีใจเป็นธรรม” ได้พิจารณาความจริงตามลำดับเวลาตามที่ได้แนบมานี้ทั้ง 3 ภาพ ก็ได้รู้ว่าใครกันแน่ที่เตะตัดขากฎหมายเพื่อหวังให้กัญชาเสรี และใครกันแน่ที่ระดมออกมาตรการควบคุมกัญชา

สอดคล้องกับสิ่งที่ อ.ไพศาล พืชมงคล ได้เผยแพร่คำรณรงค์เรื่องกัญชามาหลายปีแล้วว่า
“กัญชามา ยาบ้าหมด ประเทศจะหายจน ประชาชนจะหายป่วย คนเฮงซวยจะขัดขวาง”

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
22 มีนาคม 2566








กำลังโหลดความคิดเห็น