“ประสิทธิ์ชัย” ฟาด พท.- ปชป. กัญชาทางการแพทย์ต้องควบคุมด้วยแพทย์ ไม่จริง ชี้ ปชช.เชี่ยวชาญกว่า ใช้มานับ 100 ปี ยกบทเรียน ธุรกิจหากินกับยาแผนปัจจุบันรวยอู้ฟู่ ลั่นภาค ปชช.ไม่ยอม แม้ พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ผ่านสมัยประชุมนี้ ลุยอบรมปลูกและทำยาอย่างมีคุณภาพที่ทำมาแล้ว ทำต่อ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
วันนี้ (19 มี.ค.) นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อการมีกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุ ถึงกัญชาทางการแพทย์ ว่า กัญชาทางการแพทย์ ต้องใช้ด้วยแพทย์ จึงจะเรียกว่าการแพทย์ นี่คือวัฒนธรรมแห่งอำนาจกัญชาต้นเดียวกันเมื่อจ่ายด้วยประชาชนคนธรรมดากลับไม่เรียกว่าการแพทย์ จะเป็นการแพทย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครจ่าย ไม่ได้ขึ้นกับคุณสมบัติของกัญชา อันนี้คือวัฒนธรรมอำนาจชนิดหนึ่ง วัฒนธรรมที่มอบอำนาจให้กับผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยชี้ขาด วัฒนธรรมเช่นนี้แฝงอยู่ในทุกระบบ และเบียดขับประชาชนตลอดมา ประชาชนคือผู้โง่เขลาไม่สามารถมีสติปัญญาในการวินิจฉัยเรื่องราว
แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวด้วยว่า การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็มอบอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญ จนก่อเกิดหายนะด้านสิ่งแวดล้อมและเบียดขับประชาชนทั่วประเทศ การพิจารณาผังเมืองซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นอยู่ของประชาชนกลับมอบอำนาจให้ผู้ชำนาญการที่เรียกว่ากรรมการผังเมืองระดับชาติ การมอบอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย มันจะกลายเป็นกลไกแห่งการควบคุมเสมอ และ เป็นกลไกการปิดปากประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยแล้วและกฎหมายก็ออกแบบให้มีสภาพบังคับว่าการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญเป็นที่สิ้นสุด
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า กัญชา พืชต้นหนึ่งที่ปลูกกันมานับพันปี พอมันมีมูลค่าและมีคุณสมบัติทางยา จึงเอากัญชาไปเข้าแนวคิดเดิมในวัฒนธรรมแห่งอำนาจ คือ มอบให้ผู้เชี่ยวชาญ มีสิทธิวินิจฉัยว่าใครจะใช้ได้หรือไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ใช้รักษากันมานับแสนคนโดยหมอพื้นบ้านและประชาชนทำกันเอง น่าอัปยศที่สุด ที่ยังคงมีคนสยบยอมต่อวัฒนธรรมอำนาจชนิดนี้อย่างน้อยที่สุด พรรคเพื่อไทยก็คิดตรงกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเอากัญชาเข้าสู่วัฒนธรรมแห่งอำนาจนี้ คือ การตัดสิทธิของประชาชนในการใช้พืชต้นหนึ่งไปให้กับพวกหมอ ซึ่งไม่เคยใช้กัญชาและรังเกียจกัญชา อย่างน้อยชมรมแพทย์ชนบทก็คิดตรงกับแพทยสภาที่จะเอากัญชาเข้าสู่วัฒนธรรมแห่งอำนาจ เพราะเมื่ออำนาจอยู่ในมือหมอนึกออกไหมว่าหลังจากนี้ผลประโยชน์โคตรมหาศาลจะตกอยู่กับใคร
“ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกสถาปนาขึ้นมานั้น ดูวุฒิการศึกษา ดูตำแหน่งฐานะ ความหายนะจึงเกิดขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำสิ่งแวดล้อมพังทลายมามากมาย เพราะไม่ได้รู้จักพื้นที่จริงเท่าประชาชน คำถามถัดมาเรื่องกัญชา คือ หากมอบให้หมอแผนปัจจุบันดำเนินการจะเกิดอะไรขึ้น ต้นกัญชาจะถูกเอามาจากบริษัท เพราะชาวบ้านถูกมองว่าปลูกไม่ได้มาตรฐาน ท้ายที่สุด กัญชาก็เป็นมูลค่ามหาศาลที่กอบกินกันได้ เหมือนมูลค่ายาแผนปัจจุบันปีละหลายแสนล้าน พวกหมอคนไหนได้ประโยชน์จากระบบยานี้บ้าง เมื่อเราศรัทธาวัฒนธรรมแห่งอำนาจไม่มีทางที่ประชาชนจะเติบโต เขาจะคุมเราทุกระบบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์คิดตรงกัน เพราะสองพรรคนี้ศรัทธาในวัฒนธรรมอำนาจ น่าเศร้าที่เขาเอากัญชา ไปใส่พานให้กลไกผู้เชี่ยวชาญ เราใช้กัญชากันมานับ 100 ปี ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ส่วนหมอแผนใหม่ซึ่งไม่เคยจ่ายกัญชาและรังเกียจกัญชา กำลังจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะว่า วัฒนธรรมแห่งอำนาจฝังลึกในจิตสำนึก จนกลายเป็นสิ่งชอบธรรม แต่เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย จะไม่ยอมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแห่งอำนาจที่จะเอาสิทธิกัญชาไปจากประชาชน” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
สอดคล้องกับ นายอัครเดช ฉากจินดา แกนนำเครือข่ายภาคประชาชนอีกคน ที่มองว่า กัญชาทางการแพทย์ คือ การใช้กัญชาเพื่อการรักษา ไม่ได้หมายความว่า จะต้องจ่ายโดยแพทย์จึงจะเรียกว่ากัญชาทางการแพทย์ ระบบสุขภาพของประเทศนี้เมื่อฝากไว้กับระบบเดียวคือแพทย์สมัยใหม่ ลองดูตัวชี้วัดเราจะพบการเพิ่มขึ้นของโรค จำนวนคนเป็นโรค และ การเติบโตของโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับระบบการแพทย์ที่ก้าวหน้า มีแต่การออกแบบระบบนิเวศแห่งการรักษาที่หลากหลายจึงจะฟื้นคืนระบบสุขภาพของประชาชนในประเทศนี้ได้
ด้าน สหพร ทิพย์จำนงค์ เครือข่ายประชาชน แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุค ว่า กัญชาเพื่อการแพทย์เท่านั้นเป็นวาทกรรมให้ดูดีเพื่อให้ใครมากมายได้มีโอกาสได้แกล้งโง่และโง่แบบไม่แกล้ง เพราะมีความพยายามมานานเรื่องผลักดันเป็นยาเพื่อการแพทย์ เพราะมันตอบโจทย์เกิน 100 โรค แต่วงการแพทย์สมัยใหม่ไม่สน ใจ เพราะมันไปขัดผลประโยชน์ใคร มาวันนี้ดันวาทกรรมเพื่อการแพทย์เพื่อให้ดูดี ให้เห็นความเป็นห่วงสังคม บังเอิญเป็นสังคมที่ป่วยล้นและสร้างกำไรสร้างความมั่นคงให้อาชีพที่หากินกับความป่วยไข้ เพราะมันยังต้องใช้การวินิจฉัยของแพทย์ที่ต่อต้านกัญชาภายใต้วาทกรรมเพื่อการแพทย์ แต่มันไม่ใช่เพื่อแพทย์ เพราะสุดท้ายคือตัวเลือกสุดท้ายที่คง ไม่ได้เลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายกัญชาเพื่อประชาชน ได้จัดอบรมทำยากัญชารุ่นที่ 1 ที่ จังหวัดกระบี่ โดยวัตถุประสงค์ของการอบรมในครั้งนี้ คือ สอนการปลูกและการทำยากัญชา เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กลับมายังท้องถิ่นและตัวผู้คนในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระบวนการพัฒนาดังกล่าวคือการสถาปนาสิทธิของประชาชน นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าการเมืองจะแปรผันไปเป็นแบบไหนก็ตาม การสถาปนาสิทธิของประชาชนดังกล่าวเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่จะใช้พืชต้นหนึ่งสำหรับดูแลชีวิตตัวเอง