xs
xsm
sm
md
lg

DITTO ร่วมชุมชนปลูกป่าเพิ่ม 2.6 หมื่นไร่ ตุนคาร์บอน 5 แสนตัน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดิทโต้ (ประเทศไทย) ร่วม 14 ชุมชนกระบี่-พังงา ร่วมปลูกป่าชายเลนเพิ่มกว่า 2.6 หมื่นไร่ รวมพื้นที่ปลูกป่าทะลุ 4.8 หมื่นไร่ ตุนคาร์บอนเครดิตแตะ 5 แสนตันต่อปี ล่าสุดราคา 97 ยูโรต่อตัน ผู้นำชุมชนออกโรงหนุนเต็มที่ ระบุโครงการดีจะมีงบดูแลรักษาป่า เชื่อคุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้น

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติให้บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อยของ DITTO และชุมชน เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชนประจำปี 2566 ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 14 ชุมชน เนื้อที่รวม 26,508-2-22 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี

สำหรับ 14 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเขาล่อม บ้านไหนหนัง บ้านท่าทองหลาง บ้านคลองยาง บ้านโคกยูง บ้านน้ำร้อน และบ้านท่าประดู่ จังหวัดกระบี่ จำนวน 7 ชุมชน เนื้อที่ 9,629-0-15 ไร่ และชุมชนบ้านท่าสนุก บ้านกลาง บ้านทุ่งรัก บ้านบางพัฒน์ บ้านเกาะเคี่ยม บ้านใต้ และบ้านเกาะไม้ไผ่ จังหวัดพังงา 7 ชุมชน จำนวน 16,879-2-07 ไร่

นายฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้นเมื่อรวมกับพื้นที่ที่บริษัทได้รับอนุมัติเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาในโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปีที่แล้ว จำนวน 21,658.19 ไร่ กับพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติเพิ่มในปีนี้ ทำให้บริษัทได้รับจัดสรรรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่

พื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าชายเลนถือว่าเป็นป่าที่สร้างระบบนิเวศ ทั้งดูดซับ กักเก็บ ปล่อยออกซิเจน รวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ป่าชายเลนจึงได้ชื่อว่า Blue carbon ปัจจุบันหลักเกณฑ์การวัดคาร์บอนเครดิตสำหรับป่าชายเลนเบื้องต้นสูงถึง 9.4 ตันต่อไร่ต่อปี หากรวมพื้นที่ที่ได้รับปัจจุบันจะได้คาร์บอนเครดิต ราว 500,000 ตันต่อปี และราคาคาร์บอนเครดิตจากป่าชายเลนมีราคาแพงกว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าบก ปัจจุบันราคาที่ซื้อขายในยุโรป 97 ยูโร หรือ 3,500 บาทต่อตันคาร์บอน โดยเป้าหมายในการปลูกและดูแลป่าชายเลนยังอยู่ที่ 1 แสนไร่เพื่อเป้าหมายคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันต่อปี

นายฐกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังออก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มีผลเป็นภาคบังคับ (ปัจจุบันยังเป็นภาคสมัครใจ) เนื่องจากนานาชาติทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับประเทศคู่ค้า ซึ่งผู้ส่งออกสินค้าของไทยที่ส่งไปอียู และสหรัฐฯ จะต้องเตรียมรับมือ

“พื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนนั้นเป็นป่าที่คนในชุมชนดูแลอยู่ก่อนแล้วจึงไม่ต้องปลูกใหม่ แต่ที่ผ่านมา อาจจะขาดองค์ความรู้ และงบประมาณไม่เพียงพอ การที่ DITTO เข้ามาร่วมมือและให้การสนับสนุน จะทำให้การดูแลรักษาป่ามีความเข้มแข็ง คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบนิเวศที่ดีเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยชุมชนและชาวบ้านยังสามารถเข้ามาประกอบอาชีพและดำรงชีพในพื้นที่ป่าชายเลนได้ปกติเหมือนเดิม นอกจากนี้ DITTO ยังสนับสนุนทุนให้ชุมชนไปพัฒนาท้องถิ่น และทุนการศึกษากับเด็ก ที่สำคัญชุมชนยังมีรายได้จากคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชายเลน สำหรับดูแลชุมชนอีกด้วย” นายฐกร กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายสุธีร์ ปานขวัญ ประธานชุมชนบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนในการดูแลรักษาป่าชายเลนเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาชุมชนบ้านไหนหนัง มีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ชุมชนมาโดยตลอด แต่มีข้อด้อยในเรื่องงบประมาณทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ เวลาที่ต้องเข้ามาดูแลป่าชุมชนจะต้องมีงบประมาณสนับสนุน เช่น การลาดตระเวน การดูแลรักษาเครื่องยนต์เรือ หรืออาจจะซื้อเรือเป็นของชุมชนเพื่อดูแลรักษาป่าต่อไป

อีกอย่างการที่เอกชนที่มีความชำนาญมีความรู้เข้ามาช่วยดูแลรักษาป่าจะทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนและการบริหารจัดการมีระบบมากขึ้น เมื่อก่อนที่ชุมชนดูแลพื้นที่ 713 ไร่ แต่ไม่รู้แนวเขตชัดเจนต่อไปคงมีแนวเขตชัดเจนขึ้น

“ในการเข้าร่วมทางชุมชนได้ทำประชาพิจารณ์คนในชุมชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ 3-4 เวที ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันทั้งหมด และยังเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ต่อไปบริษัทน่าจะขยายการสนับสนุนไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพราะเป็นโครงการที่ดีเพื่อให้ชุมชนที่ดูแลรักษาป่ามีความเข้มแข็ง” นายสุธี กล่าว

ขณะที่ กำนันสุชาติ มิตตุลาคาร ประธานชุมชนบ้านทุ่งรัก จังหวัดพังงา กล่าวว่า โครงการนี้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ทุกคนเห็นว่าเป็นโครงการเหมาะสมป่าจะได้สมบูรณ์ เป็นพื้นที่พักอาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพประมง จะได้มีแหล่งทำมาหากินและจะทำให้ได้ระบบนิเวศที่ดี

“ที่ผ่านมาชาวบ้านดูแลป่าชุมชนกันเองจะออกไปตรวจดูคนลักลอบตัดต้นไม้ ค่าน้ำมันก็ไม่มี เมื่อมีเอกชนเข้ามาสนับสนุนคาดหวังอย่างน้อยจะได้มีงบประมาณในการทำงาน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพ และป่าจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น