รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ผ่านมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ตรึงอัตรากำลังเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (14 มี.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ และให้องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐ นำหลักการและแนวทางมาตรการฉบับนี้ไปใช้เพื่อให้การกำกับควบคุมขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐล่าสุดนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากมาตรการปี 2562-2565 เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรประเทศยังคงสูงขึ้น สัดส่วนคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ทดแทนกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางหน่วยงานไม่ดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐอย่างเคร่งครัด จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนในการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐไว้ระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมกำลังคนและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐให้เกิดความเหมาะสม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ จะครอบคลุมบุคลากร ประกอบด้วย ข้าราชการ (ไม่รวมข้าราชการทหาร) พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการจัดสรรอัตราว่างจากผลของการเกษียณอายุ ในกรณีข้าราชการพลเรือน ช่วงปี 2566-2567 ให้ตรึงอัตรากำลังไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม โดยชะลอการทดแทนอัตราว่างการผลการเกษียณอายุด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ จากนั้นปี 2568-2570 ให้จัดสรรอัตราตามขนาดของส่วนราชการต่อไป และเพิ่มเงื่อนไขว่าไม่ควรมีตำแหน่งว่างเกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมด
กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกลุ่มบุคลากรตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนไม่มีการตรึงอัตรากำลัง แต่ได้ปรับเงื่อนไขหรือเพิ่มการพิจารณาจัดสรรอัตราที่ว่าง แต่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดเป็นประเภทวิชากรและตำแหน่งประเภททั่วไปให้ดำเนินการเดียวกับข้าราชการพลเรือน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้าราชการตำรวจ การจัดสรรอัตราว่างยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขปี 2562-2565 แต่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ตรึงอัตรากำลังโดยบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม
ส่วนการบริหารกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการนั้น ปีงบประมาณ 2566-2567 ให้ชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยอัตรากำลังพนักงานราชการ รวมถึงปรับปรุงกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราจากผลการเกษียณอายุรอบที่6 (พ.ศ. 2568-2571) ส่วนการกำหนดตำแหน่งและระยะเวลาการจ้างยังคงเดิมคือ 4 ปี
นอกจากนี้ ตามมาตรการยังได้ปรับปรุงแนวทางการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ด้วยการเพิ่มกลไกการพิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ โดยให้มีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กรมบัญชีกลางและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็นต่อข้อเสนอขอจัดสรรกำลังตั้งใหม่ เพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการและงบประมาณด้านบุคลากรของประเทศได้ในระยะยาว