ยกประโยชน์ "ลาภมิควรได้" ฝ่ายกฎหมายมหาดไทย สั่ง อบต.ท่าเรือ จ.นครนายก คืนเงินภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง มากกว่า 2 แสนบาท คืนแก่ "มหาวิทยาลัยเปิด" ชื่อดัง เจ้าของพื้นที่ "สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน" แม้พบสภาพที่ดินปล่อยรกร้างว่างเปล่า กว่า 1,200 ไร่ พ่วงอาคารร้าง 1 หลัง แต่เข้าเกณฑ์เป็นทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ มิได้ใช้หาผลประโยชน์ในกิจการมหาวิทยาลัย
วันนี้ (1 มี.ค.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ กระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือคำปรึกษาหรือคำแนะนำของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดนครนายก ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
กรณีคณะกรรมการภาษีที่ดินฯ นครนายก สอบถามถามเห็น ต่อมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
แจ้งว่า องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าเรือ อำเภอปากพลี ได้หารือเกี่ยวกับการประเมินและการเรียกเก็บภาษีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าถูกต้องหรือไม่
"กรณีที่ดิน ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เป็น "สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน" แต่มิได้มีการใช้ประโยชน์ในกิจการ ของมหาวิทยาลัยฯ มีปล่อยรกร้างว่างเปล่า"
ทั้งนี้ หากการประเมินและการเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง และมหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามระยะเวลาที่กำหนด อปท.ดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไร มหาวิทยาลัยฯจะขอเงินคืนภาษีได้หรือไม่
ล่าสุด หนังสือเวียนกระทรวงมหาดไทย ที่ลงนามโดย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัด มท. ปฏิบัติราชการแทน ปลัดมท. ระบุว่า เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เนื่องจาก มาตรา 8 (1) แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 62
กำหนดให้ ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือในกิจการสาธารณะ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ ได้รับยกเว้น จากการจัดเก็บภาษี
กรณีมหาวิทยาลัยฯ เป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ มีฐานะเป็น "นิติบุคคล" และมี วัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการ แก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
โดย มหาวิทยาลัยฯ แบ่งส่วนราชการเป็นสถาบันได้ ตามมาตรา 4 มาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541
"ทั้งนี้ อบต. อ้างว่า เมื่อข้อเท็จจริง ที่ดินของมหาวิทยาลัยฯ ใช้เป็นสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ซึ่งเป็นส่วนราชการ ในสังกัดมหาวิทยาลัยฯ มีพื้นที่รวมประมาณ 1,200 ไร่ โดยสภาพมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารร้าง 1 หลัง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน"
นอกนั้นเป็น "ที่ดินรกร้าง" มีลักษณะพื้นที่ตํ่ากว่าถนน มีนํ้าท่วมขัง ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯ ที่ใช้เป็นสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐ แม้จะไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
แต่มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้นำทรัพย์สินไปหาประโยชน์ ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯดังกล่าว ยังคงถือเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐ และมิได้ใช้หาผลประโยชน์
จึงได้รับยกเว้น จากการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8 (1) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 62
การที่ อบต.ท่าเรือ แจ้งการประเมินภาษี ไปยังมหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นการประเมินภาษีที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนกรณี มาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี62 กำหนดให้ ผู้ใดเสียภาษี โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย หรือเสียเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเอง
หรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินคืน โดยต้องยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น ภายในสามปีนับแต่วันที่ชำระภาษี นั้น
กรณี อบต.ท่าเรือ แจ้งการประเมินภาษี ให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงชำระภาษี และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ชำระภาษีประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 26,028.45 บาท และปี พ.ศ. 2565 จำนวน 204,461.24 บาท แล้ว รวม 230,489.69 บาท
เมื่อการประเมินดังกล่าวเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง และผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีแล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษี ได้เสียภาษี โดยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสีย
อีกทั้ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขอรับเงินคืนค่าภาษีประจำปี พ.ศ. 2564 และปี พ.ศ. 2565
ซึ่งอยู่ภายในกำหนดสามปี นับแต่วันที่ชำระภาษี มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีสิทธิได้รับเงินคืน แม้มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดก็ตาม
โดยให้ผู้บริหารท้องถิ่น มีคำสั่งคืนเงินให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง ในลักษณะ "ของลาภมิควรได้"
ตามข้อ 94 - ข้อ 96 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม.