จ่ายแล้วก้อนแรก งบกลาง 24 ล้าน ให้ 888 คนชรา ที่ถูกเรียกคืนเบี้ยซ้ำซ้อน! หลัง รบ.- มท.สั่งท้องถิ่น “ถอนฟ้อง-ระงับบังคับคดี” พร้อมคืนเงิน 250 ล้าน แก่ครอบครัว 28,345 ราย พบ 8 จังหวัด ได้รับคืนเหยียบล้านบาท เฉพาะ “โคราช-น่าน” รับคืนสูงสุด
วันนี้ (28 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) เวียนหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 858 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2566 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
แจ้งโอนเงิน “งบกลาง” งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
สำหรับจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้ดำเนินการเรียกคืนและได้นำส่งเงินคืน เป็นรายได้แผ่นดินแล้ว วงเงินรวม 24,863,022.33 บาท ให้ กับคนชรา 888 คน ทั่วประเทศ ยกเว้น จ.อุทัยธานี และสิงห์บุรี ไม่มีผู้รับโอน
“จ.นครราชสีมา และ จ.น่าน พบว่า มีผู้จะได้รับเงินก่อนนี้ สูงสุด 1,483,881.86 บาท และ 1,210,660 บาท โอนให้กับ คนชรา 49 ราย และ 42 ราย ตามลำดับ ขณะที่ จ.เชียงใหม่ และ สงขลา ก็มีคนชราที่จะได้รับเงินคืน 43 รายเท่ากัน”
ขณะที่ นครปฐม นครศรีธรรมราช ราชบุรี และ สุราษฎร์ธานี ก็มีคนชราที่จะได้รับเงินคืน รวมมากกว่าจังหวัดละ 1 ล้านบาท โดยจ่ายขาดไปยัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร
ปีที่แล้ว กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ที่มีความซํ้าซ้อนกับสวัสดิการอื่น
ภายหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับ “ผู้สูงอายุ” ที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการ จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
เป็นแนวทางกรณีที่ อปท.ดำเนินการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว โดยเงินดังกล่าว รอนำส่งคืน และเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพแล้ว อปท.นำเข้าเป็นเงินสะสม ถือเป็นกรณีได้รับเงินรายรับและมีการขอคืนในลักษณะของลาภมิควรได้ภายในกำหนดอายุความ
ให้ อปท. ถอนคืน เงินรายรับตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บ รักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 94 ข้อ 95 และ ข้อ 96 โดยถือปฏิบัติ
ขณะที่ ครม.รับหลักการโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565
ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
และการจ่ายเงินเบี้ยงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ “ผู้สูงอายุ”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการ คือ อายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว
ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของ กผส. นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย