คอนเฟิร์ม "ลุงตู่" บินอุดรฯ 2 มี.ค. นำปาฐกถา ประชุมใหญ่ ผู้บริหาร อบต. หัวข้อ "ท้องถิ่นต้องไปต่อ" พร้อมย้ำ! ขึ้นเงินเดือนระดับบิ๊กอบต. สูงสุดรายละ 75,530 บาท เผยมติบอร์ดพิจารณาร่างกฎหมายมหาดไทย คณะที่ 1 ย้ำ 4 ข้อ นอกจากขอความคิดเห็นประชาชน พร้อมยก "สูตรคำนวณอัตราเงินค่าตอบแทน" ผู้บริหารท้องถิ่น ทุกขั้นตอน
วันนี้ (27 ก.พ.2566) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ถึงความคืบหน้า ต่อร่างเงินเดือนใหม่ของเหล่าผู้บริหาร อบต. เฉพาะ นายกฯ อบต. "พื้นที่รายได้สูงสุด" อาจมีค่าตอบแทนถึง รายละ 75,530 บาท
หรือ ร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายก อบต. ประธานสภา อบต. รองประธานสภา อบต. สมาซิกสภา อบต.เลขานุการ นายก อบต. และเลขานุการสภา อบต. (ฉบับที่ ..) พ.ศ..
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เตรียมสรุปการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป ภายหลังได้เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
โดย 76 ผู้ว่าฯ 878 นายอำเภอ และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็น และส่วนใหญ่ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" และเตรียมเสนอ รมว.มหาดไทย ประกาศใช้ในสัปดาห์นี้
ล่าสุดพบว่า มติคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันพุธที่ 8 ก.พ.2566
ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้ตรวจพิจารณา รายงานการประชุมดังกล่าวแล้ว ให้แก่ไขความในหน้าที่ 6 ย่อหน้าที่ 2 เป็นดังนี้
คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 ได้ตรวจพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าว โดยรับฟังข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของผู้แทน สถ.แล้ว มีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
1. ควรกำหนดให้ใช้เกณฑ์รายได้เป็นฐาน ในการกำหนดอัตราเงินค่าตอบแทน และระบุ แหล่งที่มาของรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไว้ในเนื้อหาของร่างระเบียบให้ชัดเจน
2. ให้นำหมายเหตุในบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนที่กำหนดว่า รายได้ของ อบต. หมายถึง รายได้ตามงบการเงินประจำปี (งบแสดงผลการดำเนินงานที่จ่ายจากเงินรายรับ) ของปีงบประมาณที่แล้วมา
ทั้งนี้ไม่รวมเงินกู้ เงินสะสม และเงินอุดหนุนทุกประเภทใช้ เป็นฐานในการคำนวณอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการจ่ายเงินค่าตอบแทน มากำหนดไว้ในร่างระเบียบดังกล่าว
3. ตามที่ผู้แทน สถ. ชี้แจงว่า การคำนวณอัตราเงินค่าตอบแทน ผู้บริหารท้องถิ่น ที่กำหนดให้พิจารณาจากรายได้ตามงบการเงินประจำปีของงบประมาณที่แล้ว
"แต่เนื่องจาก เมื่อเริ่มปีงบประมาณใหม่ ยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ทันทีในวันสิ้นปีงบประมาณ สถ. จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ อบต.นำรายได้ของปีงบประมาณก่อนปีที่ปิดบัญชีไม่ทัน มาใช้เป็นเกณฑ์กำหนดอัตราค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่น"
เช่น การคำนวณค่าตอบแทนของผู้บริหารท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2566 ให้นำรายได้ของปีงบประมาณ 2564 มาเป็นเกณฑ์กำหนดอัตราค่าตอบแทนของผู้บริหารท้องถิ่น
ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ "จะไม่สอดคล้อง" กับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายก อบต. รองนายก อบต. ประธานสภา อบต. รองประธานสภา อบต. สมาชิกสภา อบต. เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภาอบต. พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ดังนั้น ในทางปฏิบัติ หากยังไม่ได้ปิดบัญชีก็ควรนำรายได้จริงสิ้นปีงบประมาณมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอัตราเงินค่าตอบแทน เมื่อทำบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว
หากปรากฏว่ารายได้อยู่ในอัตราใด ให้นำอัตรานั้นมากำหนดอัตราค่าตอบแทน หากปรากฏว่ามีอัตราค่าตอบแทนเพิ่ม ให้จ่ายเป็นเงินตกเบิกย้อนหลังให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่น
4. ให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างระเบียบดังกล่าวประกอบการพิจารณาด้วย เนื่องจากเป็นระเบียบทางการเงินที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน
จึงควรพิจารณา อย่างรอบคอบ ประกอบกับมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 1 มี.ค.2565 เห็นชอบกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเรื่องร่างอนุบัญญัติออกตามความในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำ ร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับฟังความคิดเห็น และวิเคราะห์ผลกระทบก่อนออกกฎ ตามหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0913/1 ลงวันที่ 4 ม.ค.2565"
มีรายงานด้วยว่า สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยระเบียบการ ประชุมใหญ่ของฝ่ายบริหาร อบต. ครั้งที่ 2
ตามโครงการสัมมนา “บทบาทท้องถิ่นไทยกับการกระจายอำนาจเพื่อการไปต่ออย่างยั่งยืน”
ระหว่างวันที่ 1 – 3 มีนาคม พ.ศ.2566 ณ ศูนย์การศึกษาสามพร้าว มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
"เฉพาะ วันพฤหัสบดีที่ 2 มี.ค. 2566 ขอเชิญผู้เข้าร่วมโครงการสัมมนา แต่งกายเครื่องแบบชุดกากี เพื่อต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี"
นอกจากเปิดการสัมมนา พลเอกประยุทธ์ จะนำปาฐกถาในหัวข้อ "ท้องถิ่นต้องไปต่อ"ด้วย.