“จตุพร” ท้าเพื่อไทย กล้าๆ หน่อย ตอบคำถาม วัดกันไปเลย จับมือ พปชร.หรือไม่ อย่าออกลีลาดิ้นหนี โชว์ปลิ้นปล้อน งัดประวัติศาสตร์ ได้เสียงมากกลับเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่น ถึงสองคราว จึงเชื่อว่า ดีล “ประวิตร” เอื้อประโยชน์ตัวเอง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 ก.พ. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “วัดกันไปเลย” ระบุว่า
พรรคเพื่อไทย ยังไม่ตอบคำถามว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้นำของพรรคพูดมานั้นเป็นเพียงโวหาร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประวัติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยแล้ว แม้ที่ผ่านมา เป็นพรรคมีเสียงอันดับหนึ่งในสภา แต่เคยเลือกบุคคลจากพรรคอื่นเป็นนายกฯมาแล้วถึงสองครั้ง โดยครั้งแรก ธันวาคม 2551 เลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน) ชิงนายกฯ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ก็แพ้ไป
ส่วนครั้งที่สอง หลังเลือกตั้งปี 2562 เลือก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เป็นนายกฯ ก็แพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ส.ว.เทเสียงหนุนอย่างเป็นเอกภาพถึง 249 เสียงจากทั้งหมด 250 คน ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า พรรคเพื่อไทยทั้งที่ได้เสียงเลือกตั้งมากที่สุด ยังไม่เคยได้เลือกแคนดิเดตนายกฯของตัวเองมาเลย กลับไปลงมติเลือกแคนดิเดตนายกฯจากพรรคอื่นแทน
ดังนั้น เมื่อมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 กรณีแกนนำเพื่อไทยบอกต้องโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง ถ้าเลือกคนจากพรรคอื่นจะตอบประชาชนได้อย่างไรนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตอบตามที่เคยตอบและก็อยู่มาได้ตามที่เคยอยู่แล้วไง แต่ปัญหาทางการเมืองนั้น ถ้าไม่จับมือกัน ไม่ดีลกันก็ต้องตอบให้เด็ดขาด เหมือนพรรคก้าวไกลกับไทยสร้างไทยประกาศชัดเจนไม่จับมือกับ พปชร. และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยจะไม่จับมือกับก้าวไกล
นายจตุพร ย้ำว่า คำถามที่ตนถาม และ ชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) นำไปถามต่อว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร และ พปชร.หรือไม่ ซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร ถ้าคนทั้งสามคนของเพื่อไทยมีความเป็นจริงในใจแล้ว ควรตอบมาง่ายๆว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร. ก็เป็นที่ยุติแล้ว
“เพราะความตลบตะแลตั้งแต่เรื่องสุดซอย (กม.นิรโทษกรรมที่เพื่อไทยปรับเปลี่ยนไปคลุมถึงคดีทุจริต) มติพรรคเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 3 รอบ ดังนั้น ความไม่อยู่กับร่องกับรอยในทุกเรื่อง พร้อมประวัติศาสตร์ได้อธิบายอยู่ทุกวัน โดยความเป็นจริงคุณตอบคำถามเรื่องนี้ได้ง่ายที่สุด ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แล้วทำไมต้องตอบไม่ตรงกับคำถามด้วย”
อีกทั้งย้ำว่า ถ้าเพื่อไทยตอบตรงคำถามง่ายๆว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร.เด็ดขาดไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตามก็เท่านั้น แต่ไม่ตอบจึงทำให้นึกย้อนถึงร่องรอยสายสัมพันธ์ตั้งแต่การแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. รวมถึงความสัมพันธ์ช่วงก่อน และหลังวันยึดอำนาจปี 2557 ซึ่งปิดบังตนไม่มิด เพียงแต่ยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่า ใครประสานกับใคร อย่างไร และวางคนของตัวเองไว้ตรงไหนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการดีลหลังวันยึดอำนาจด้วยการเจรจาเป็นตอนๆ ไป ทั้งในเรื่องกลับบ้าน หรือคดีอื่นๆ พอไม่สำเร็จก็ดีลให้เดินทางออกนอกประเทศ
“ดีลยึดอำนาจยังดีลเลย นับประสาอะไรกับการดีล (จับมือประวิตร หนุนให้เป็นนายกฯ) ที่ตอบไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะการจับมือกับประวิตรยังมีฤทธิ์เดชอยู่ แม้ไม่มีการปฏิเสธกัน แต่มีความพยายามจะเอานายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย มากลบข่มประวิตร แต่สุรเกียรติ์ก็ไม่มา”
จุตพร กล่าวว่า เพื่อไทยยังมีสิทธิ์ตอบคำถามง่ายๆนี้ แต่กลับเล่นลีลาลากไปลากมา ออกอาการพูดปลิ้นปล้อน โยนหลักการมาอธิบาย แต่ไม่ยอมใช้ภาษาง่ายๆแบบไพร่พูดให้ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความ หรือพูดเปิดช่องดิ้นหนีคำถาม ถึงที่สุดก็ยังไม่ได้คำตอบที่ตรงกับคำถามจนบัดนี้ ดังนั้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพา พล.อ.ประวิตร กับ องค์กรอิสระทั้ง 5 และ ส.ว. ยิ่งถ้าประกาศจับมือ พล.อ.ประวิตร เสียงก็จะหายไปทันที หรือหากประกาศเด็ดขาดไม่จับมือ พปชร. ก็จะเจอสงครามและเจอปฏิบัติการกันอีกหลากหลาย จึงจำเป็นต้องอ้ำอึ้ง แล้วพูดกั๊กกันไว้เช่นทุกวันนี้ เพราะเป็นแค่ลีลา ซึ่งไม่ใช่ความจริง
ส่วนการปราศรัยของพรรคการเมืองในหลายจุด เริ่มดุเดือดขึ้นนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังวัดทางการเมืองอะไรกันไม่ได้ เป็นเพียงช่วงการโฆษณาชวนเชื่อ แต่สถานการณ์การเมืองไทยจากนี้ไป ยังอยู่ที่กลเม็ดอีกหลายอย่างที่รอให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะกรณีศาล รธน.นัดตัดสินปมคนต่างด้าวคำนวณแบ่งเขต ส.ส. ในวันที่ 3 มี.ค. นี้ ซึ่งจะวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็มากปัญหาตามมา หากตัดสินว่า กกต.ทำไม่ได้ อาจจะลุกลามย้อนถึงการเลือกตั้งปี 2562 จะเป็นปัญหาเข้าข่ายโมฆะหรือไม่ หรือหากตัดสินให้ กกต.ทำได้ ก็เป็นเรื่องใหญ่ ส่อกระทบถึงความมั่นคงและทางการเมือง เนื่องจากคนต่างด้าวจะหลั่งไหล่เข้าประเทศมามีชื่อในทะเบียนราษฎร โดยหวังผลให้ได้เปรียบเสียเปรียบในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีการยุบพรรค ซึ่ง กกต.ต้องแถลงออกมาให้ชัดมีเรื่องคำร้องมากี่พรรคแล้ว ประชาชนจะได้ติดตามทุกเรื่องอย่างเท่าทัน ทั้งที่ กกต.ไม่เคยทำให้การเลือกตั้งสุจริต เท่ี่ยงธรรมได้ และยังไม่จับการทุจริตให้เป็นจริงจัง ยิ่งการรับรองผลเลือกตั้งในหนึ่งเดือน และแจกใบแดง เหลือง ขาว ในหนึ่งปี เท่ากับเปิดช่องให้มีอำนาจไปทำมาหาประโยชน์ ซึ่งจะเกิดความเสียหายกับการถอนทุน
ดังนั้น ถ้า กกต.ยังปฎิบัติตัวแบบที่ถูกกล่าวหาอยู่ สิ่งไม่เข้้าท่าเหล่านี้ก็ไม่หายไป ถ้าปฏิบัติกันด้วยหลักเป็นจริงแล้ว ขณะนี้ทุกพรรคหาเสียงเจอข้อหายุบพรรคกันทั้งนั้น อีกทั้งเมื่อศาล รธน. ตัดสินใจว่า กกต.ทำผิดแล้ว หากพร้อมใจแสดงความรับผิดชอบอย่างฉับพลันด้วยการลาออก ยิ่งกระทบต่อการเลือกตั้ง ที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย
นายจตุพร กล่าวว่า ประชาชนต้องติดตามการเมืองอย่างรู้เท่าทันเล่ห์กลลวง แม้วันนี้จะเชียร์ฝ่ายไหน พรรคใดก็ตาม แต่สิ่งสำคัญยังไม่รู้เลยว่า เลือกตั้งแล้วจะได้อะไร ส่วนกลุ่มทุนนั่งหัวเราะรอการผสมจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมดูแลสองฝ่ายทั้งรัฐบาลกับพรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น จึงไม่แปลกใจกับทรัพยากรของแผ่นดินจะไม่ถูกเฉลี่ยอย่างเท่าเทียมให้ประชาชนเลย เพราะไม่มีรัฐบาลที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนจึงได้เพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น
“การเมืองไทย ไม่ว่าฝ่ายไหนแต่ละพรรคล้วนเล่นเกม เล่นเล่ห์ มีเพทุบายกันทั้งนั้น ดูอย่างบางพรรคดึงเวลาอภิปรายไม่ไว้ว่างใจพล.อ.ประวิตร จนหมดเวลา ออกมาพูดข้างนอก เนื้อหาเตรียมก็พูดได้เล็กน้อย ส.ส.ก็ถูกฟ้อง ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่า แตะใคร ไม่แตะใคร และเว้นใคร การเมืองอธิบายไว้ชัด จะเป็นอื่นไม่ได้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยภายใน”
ส่วนปัจจัยภายนอก นายจตุพร กล่าวว่า สถานการณ์ของไทยอาจได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสหรัฐมีบทบาทสำคัญก่อให้เกิดความขัดแย้ง แล้วยังลากจีนเข้ามาพัวพันด้วย นอกจากนี้ยังไม่รู้มีกองกำลังทหารสหรัฐฝ่ายพันธะสัญญาอินโดแปซิฟิกแฝงตัวอยู่ในไทยอีกเท่าไร ซึ่งคนไทยพึ่งตระหนักและฝ่ายความมั่นคงควรให้ความสนใจ สิ่งนี้จึงเป็นความน่ากังวล เพราะขณะนี้ปัจจัยภายนอกรุกไล่หนักขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในสถานการณ์ทางการเมืองภายในจึงต้องคิดอย่างละเมียด แล้วควรเท่าทันเนื่องจากเดิมพันด้วยชาติบ้านเมือง ดังนั้นปัจจัยภายในที่หวังจะได้ประโยชน์นั้นจึงเป็นภัยร้ายอันอุบาทว์อย่างยิ่ง
“ถึงที่สุดแล้ว การเมืองไทยยังผูกพันกับปัจจัยภายนอกที่จะกระทบให้เกิดจุดเปลี่ยนกันอีกแบบ ส่วนปัจจัยภายในมีจุดเปลี่ยนในวันที่ 3 มี.ค. จากคำตัดสินของศาล รธน. ซึ่งจะนำไปสู่หลากหลายเรื่องราวตามมา ดังนั้น ประชาชนจะเชียร์พรรคไหนก็ว่ากันไป แต่ควรเตรียมตัวรองรับสิ่งไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นด้วย แม้ขณะนี้ยังไม่เกิด ก็ไม่ได้หมายความจะไม่มีในเวลาอันใกล้นี้” (จากไทยโพสต์)
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ถ้า “พรรคเพื่อไทย” ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะ “ดีล” หรือ จับมือกับพล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ ผลที่จะตามมา อย่างแรกเลย ก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มี “พรรคก้าวไกล” ร่วมด้วย เพราะพรรคก้าวไกล ประกาศเอาไว้ชัดเจนว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หรือฝ่ายเผด็จการ
ประการต่อมา จะไม่สามารถเรียกว่า เป็น “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” ได้ เหมือนอย่างที่พยายามอ้างกับประชาชนอยู่ในเวลานี้ เพราะถ้าอ้าง “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” ก็ต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเท่านั้น
ประการที่สาม ฐานเสียงที่ไม่เอาฝ่าย “เผด็จการ” ซึ่งเชื่อว่า จะ “สวิง” มาที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็จะหดหายไปทันที โอกาส “แลนด์สไลด์” แทบไม่เหลือให้ฝันถึงอีกต่อไป
ประการที่สี่ พรรคเพื่อไทย จะถูกตราหน้าทันทีว่า เป็นพรรคที่เห็นแก่ผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าทำเพื่อประชาชน ต้องการเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น ทรยศและหักหลังประชาชน ที่หลงเชื่อว่า เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ฯลฯ
แค่นี้ก็แทบไม่เหลืออะไรแล้ว แล้วจะให้พรรคเพื่อไทย ตอบคำถาม “จตุพร” อย่างตรงไปตรงมา ด้วยความจริง ได้อย่างไร!?