“สนธิรัตน์” หนุนลดราคาพลังงาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้เฉพาะกิจ โดยไม่ปรับแก้โครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรม ชี้ ยกเลิกกองทุนน้ำมัน-ลดเก็บภาษีสรรพสามิต จะเกิดผลกระทบหลายด้าน และทำได้แค่ชั่วคราว หากไม่มีมาตรการรองรับเป็นระบบ แนะจัดโครงสร้างราคาที่เหมาะสม ไม่กระทบการคลังประเทศ เอกชนควรลดกำไรเกินควรที่ได้จากโครงสร้างราคาบิดเบือน เตรียมแจงรายละเอียดบนเวทีเสวนาที่ มธ. 28 ก.พ.นี้
วันนี้ (25 ก.พ.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ แสดงความเห็นความเห็นเรื่องการปรับลดราคาน้ำมัน ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า โดยภาพรวมเห็นด้วยกับการลดราคาพลังงานเพราะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องประชาชน แต่มีข้อเห็นต่าง 5 ข้อในการจัดการเรื่องนี้ ได้แก่
1. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาที่เป็นการแก้เฉพาะกิจในระยะเวลาแค่เพียง 1 ปี โดยไม่ได้เข้าไปแก้ที่หัวใจของปัญหา นั่นคือปัญหาโครงสร้างราคาเดิม ที่ยังไม่ได้ถูกปรับแก้ให้เกิดความเป็นธรรมและสอดรับกับสถานการณ์พลังงานอันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
2. การแก้ด้วยการ “ยกเลิกกองทุนน้ำมัน” อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ล้มเหลวมาแล้ว และ ถ้ายกเลิกกองทุนน้ำมันทันที ผลกระทบที่มีต่อประชาชนในส่วนของราคาก๊าซหุงต้มก็จะสูงขึ้นทันที ราคาเพิ่มขึ้นถังละเกินกว่า 135 บาท/15 กก. ซึ่งประชาชนย่อมเดือดร้อนอย่างแน่นอน หากไม่มีมาตรการอื่นใดมารองรับ
นอกจากนั้น เรายังมีภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมันที่เกิดขึ้นมาแล้วนับแสนล้านบาทรวมทั้งดอกเบี้ยใครเป็นคนจ่ายและจะบริหารอย่างไร
รวมถึงแก๊สโซฮอล์จะต้องราคาเพิ่มขึ้นเช่นกันจนอาจไม่มีใครเติม และจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างไรกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานเพื่อผลิตเอธานอล ฯลฯ ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวนี้จึงจำเป็นต้องคิดรอบด้านและรอบคอบอย่างเป็นระบบ
เพราะถ้าไม่แก้อย่างเป็นระบบ “การยกเลิกกองทุนน้ำมัน” ก็จะทำได้เป็นการชั่วคราว (ไม่ว่าจะ 3 เดือน หรือ 1 ปี) และในที่สุดก็จะต้องกลับมาเก็บกองทุนน้ำมันในที่สุด เหมือนกับที่เคยขึ้นมาในรัฐบาลในอดีต และประชาชนก็ต้องกลับมาเดือดร้อนอยู่ดี
3. การแก้ด้วยการ “ยกเลิการเก็บภาษีสรรพสามิต” ก็จะกระทบต่อรายได้จากการจัดเก็บของรัฐบาล และฐานะการคลัง ดังนั้นจะต้องอธิบายอย่างเป็นระบบได้ด้วยว่าจะชดเชยรายได้จำนวนเท่าไหร่ที่ขาดหายไปจากงบประมาณประจำปีที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว จะแก้ไขด้วยวิธีใด ถึงแม้จะแก้ปัญหาได้เพียง 1 ปี ก็แปลว่า ประชาชนก็ต้องถูกกลับมาเก็บเก็บภาษีสรรพสามิตในท้ายที่สุดอยู่ดี
4. การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาสั่งการให้มีการลดราคาน้ำมัน เป็นการออกมาแก้ปัญหาที่ดีถ้าทำได้ แต่ต้องพึงระวังที่จะแก้โดยให้รัฐรับภาระแต่เพียงฝ่ายเดียว (เช่น ลดภาษี หรือลดการเก็บเงินเข้ากองทุน) โดยไม่ได้ปรับแก้ “โครงสร้างราคาที่เหมาะสม”
และ “โครงสร้างราคาที่เหมาะสม” จะต้องคำนึงถึงการลดราคาน้ำมัน ไม่ได้มีผลกระทบแค่ราคาน้ำมันแต่มันเกี่ยวข้องกับ “เจตจำนงทางการเมือง” โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองคือนายกรัฐมนตรีจะต้องเห็นชอบด้วย เพราะมีความเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ
5. สำหรับโครงสร้างเฉพาะราคาน้ำมันที่เหมาะสมนั้น ขอเสนอแยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก ในส่วนของภาครัฐในการลดภาษีหรือการลดการเก็บเข้ากองทุนควรหาจุดสมดุลที่หากจะลดแล้วต้องไม่กระทบต่อสถานะทางการคลังของประเทศ และต้องชำระหนี้สินของกองทุนน้ำมันได้
ส่วนที่สอง ในส่วนของภาคเอกชน ควรมีการลดกำไรที่เกินสมควรที่ได้จากโครงสร้างราคาที่บิดเบือนและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำมันและกองทุนน้ำมันกระทบไปถึงก๊าซหุงต้มดังที่กล่าวแล้ว ยังซ่อนปัญหาของราคาค่าไฟฟ้าที่แพงและผลักภาระให้ประชาชนอีกด้วย ซึ่งผมจะกล่าวต่อไปในโอกาสหน้า
ยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นในเรื่องนี้ที่ต้องพูดกันผมอยากชวนทุกท่านร่วมฟังเวทีเสวนา อนาคตพลังงานไทย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บ่ายโมงครึ่งเป็นต้นไป จะเป็นเวทีที่พรรคการเมืองจะพูดถึงนโยบายพลังงาน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก
สุดท้ายผมขอย้ำว่า พลังงานเป็นเรื่องของประชาชน รัฐและเอกชนต้องคิดถึงประชาชน
“เราควรถือโอกาสที่ทุกคนให้ความสนใจต่อราคาน้ำมัน เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพลังงานเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและยั่งยืน” นายสนธิรัตน์ กล่าว
อ่านข้อความในโพสต์ฉบับเต็ม >> https://www.facebook.com/Sontirat.S/posts/767593774731583