“วีระกร” ผุดไอเดียผันน้ำยวม เติมแม่น้ำเจ้าพระยา สู้ภัยแล้ง เคียงข้างเกษตรกร ชี้ แม่น้ำเจ้าพระยาขาดน้ำปีละ 4-8 พัน ลบ.ม. จนเกิดภัยแล้งทำพี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนหนัก ชง “ภูมิใจไทย” ดันโครงการผันน้ำยวม เติมน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ก่อนไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา สู้ภัยแล้งเคียงข้างพี่น้องเกษตรกร
วันนี้ (25 ก.พ.) นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการ “พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ TikTok พรรคภูมิใจไทย ถึงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยแล้งของพรรคภูมิใจไทย ว่า จากการศึกษาพบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องการน้ำ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แบ่งเป็น 3,500 ล้าน ลบ.ม.สำหรับขับไล่น้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้าใน กทม. หรืออาจจะขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยาได้, 2,500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลิตน้ำประปา, 3,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก, 1,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการปศุสัตว์ ที่กล่าวไปรวมกัน 10,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และยังมีส่วนของภาคการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ ที่ต้องการน้ำอีกประมาณปีละ 8,000 ล้าน ลบ.ม.
“เพราะฉะนั้นปีหนึ่ง เราต้องใช้น้ำ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำถึง 8,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง คำถามมีว่า จะเอาน้ำที่ไหนมาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาชาวไร่” นายวีระกร ระบุ
นายวีระกร ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า พรรคภูมิใจไทย จึงได้เสนอทางออก โดยการผันน้ำจากลำน้ำยวม ที่มีต้นน้ำ อยู่ที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และไหลลงใต้ไปลงแม่น้ำเมยแล้วออกนอกประเทศ ไปยังแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลไปเข้าประเทศเมียนมา โดยแทนที่เราจะปล่อยน้ำออกไปนอกประเทศ เราก็ปิดประตูน้ำที่ปากแม่น้ำยวม และตั้งสถานีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160 เมตร เพื่อไหลลงน้ำแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
นายวีระกร อธิบายต่อว่า เพื่อให้น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันเขื่อนภูมิพลสามารถกักเก็บน้ำ ได้ 13,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ตลอดระยะเวลาที่เกิดเอลนีโญ ช่วงปี 2555-2563 มีน้ำเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 5,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้นเขื่อนภูมิพล ยังมีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เมื่อเราปิดไม่ให้น้ำยวมไหลออกไปนอกประเทศ แล้วสูบน้ำมายังเขื่อนภูมิพล โดยน้ำยวมจะสามารถสูบข้ามเขามาได้ประมาณปีละ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.
นายวีระกร กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.จากแม่น้ำยวมก็ถือว่า ยังไม่เพียงพอ และอาจจะต้องมีเฟส 2 โดยการต่อท่อจากแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เอามาลงประตูน้ำที่ปิดตรงปากแม่น้ำยวม เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคต เราก็จะมีน้ำยวมมาช่วยให้กับพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ขาดแคลนน้ำประมาณปีละ 4,000-8,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างเพียงพอ โดยเราจะสูบน้ำเฉพาะในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำยวมเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่ในหน้าแล้งเราจะไม่แตะต้องเลย
“เป็นการผันน้ำ เพื่อเติมน้ำต้นทุน ให้กับเขื่อนภูมิพล และเป็นการเติมน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนากว่า 27 จังหวัด ในลุ่มน้ำภาคกลางทั้งหมด ที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทย ในการทำให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ ได้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร นี่คือ คำสัญญาของพรรคภูมิใจไทย ที่ขอยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรไทย” นายวีระกร ระบุ