นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี ติดตามดูการติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอไชยา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลาก
เมื่อวันที่13 ก.พ. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลาก
ทั้งนี้นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณพื้นที่อำเภอไชยา มักประสบปัญหาน้ําท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำไหลผ่านมาจากเทือกเขาตะนาวศรีทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอ โดยในช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกมากในบริเวณที่เป็นเทือกเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาในแม่น้ำแล้วไหลผ่านไปในพื้นที่เทศบาลทุกครั้ง เพื่อไหลไปลงสู่ทะเลอ่าวไทย และเมื่อเกิดฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว มักส่งผลให้เกิดน้ําท่วมในพื้นที่อำเภอไชยา
จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงได้ก่อสร้างระบบผันน้ำ เพื่อผันน้ำส่วนเกินของคลองไชยา เพื่อเลี่ยงตัวเมืองอำเภอไชยา ด้วยการใช้คลองชลประทานสายใหญ่ที่มีอยู่ของโครงการฝายคลองไชยา และปรับปรุงฝายน้ำล้นเดิมซึ่งระบายน้ำได้สูงสุด 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นประตูน้ำเพื่อควบคุมและผันน้ำส่วนเกินไม่ให้ไหลข้ามฝาย ด้วยการผันน้ำออกทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของคลองไชยา แล้วระบายลงสู่ลำน้ำสาขาด้านท้ายน้ำ โดยจะผันน้ำบางส่วนไปเก็บกักไว้ในแก้มลิง ส่วนที่เหลือจะระบายออกสู่อ่าวไทยตามลำดับ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองไชยา มีทั้ง การก่อสร้างแนวผันน้ำฝั่งซ้าย แนวผันน้ำฝั่งขวา และงานปรับปรุงคลองไชยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น งานปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งซ้าย (คลองส่งน้ำสายใหญ่ LMC) งานปรับปรุงคลองผันน้ำฝั่งขวา (คลองส่งน้ำสายใหญ่ RMC) งานปรับปรุงคลองตะเคียน งานคลองผันน้ำไปลงแก้มลิงป่าเว และแก้มลิงทุ่งท่าเนียน งานปรับปรุงคลองท่าปูน งานปรับปรุงคลองไชยา โดยโครงการทั้งหมดมีแผนระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี
หากแล้วเสร็จทุกโครงการ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำและผันน้ำส่วนเกิน เพื่อไม่ให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอไชยา โดยสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 28,315 ไร่ หรือ 86% รวมทั้งผันน้ำบางส่วนไปเก็บไว้ในแก้มลิงสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร มีพื้นที่รับประโยชน์บริเวณฝายคลองไชยาเดิม 30,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์บริเวณแก้มลิงป่าเวและแก้มลิงทุ่งท่าเนียนเพิ่มอีกประมาณ 10,740 ไร่
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินงานป้องกันน้ำเค็ม เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงและป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ โดยได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็ม พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำ 4 แห่ง ซึ่งดำเนินเสร็จแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองท่าโพธิ์ คลองไชยา และคลองหัววัว ส่วนประตูระบายน้ำคลองท่าปูน จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 พร้อมดำเนินการขุดลอกคลองไชยา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนต่อไป.