เนสท์เล่ ประเทศไทย จับมือ กฟผ. และ อินโนพาวเวอร์ นำร่องผลิตเนสท์เล่ไอศกรีมด้วยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทดสอบรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว การันตีด้วย REC จากอินโนพาวเวอร์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และผลักดันกลไกนโยบายด้านพลังงานสีเขียวตามมาตรฐานสากล
วานนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า พร้อมด้วยนายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ในฐานะ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมแถลงความร่วมมือการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระดับ Utility เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ณ ห้อง Press Conference ชั้น 3 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า เนสท์เล่มีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว ก็คือ การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในโรงงานผลิตของเนสท์เล่ทุกแห่งภายในปี 2025 ในวันนี้ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ.ในการใช้ไฟฟ้าสีเขียวจากพลังงานหมุนเวียน 100% มานำร่องใช้ที่โรงงาน เนสท์เล่ ไอศกรีม เป็นรายแรกในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทย ภายใต้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก (Utility Green Tariff) ในฐานะบริษัทธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนสท์เล่ตระหนักดีว่าการผลิตของเรามีส่วนในการส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเนสท์เล่ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาประเทศไทยและโลกของเราให้ยั่งยืนและน่าอยู่ยิ่งขึ้น
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเนสท์เล่ ประเทศไทย กับ กฟผ.ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค พร้อมทั้งยังเป็นการทดสอบกลไกการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวภายใต้ Utility Green Tariff ในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน ระยะที่ 2 (ERC Sandbox ระยะที่ 2) เป็นระยะเวลา 1 ปี
โดย กฟผ.มีความพร้อมในการเป็นหน่วยงานกลางบริหารจัดการไฟฟ้าสีเขียว (Arrangement Unit) จับคู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว (Green Energy Portfolio) จากเขื่อนที่ขึ้นทะเบียน I-REC ของ กฟผ. ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนนเรศวร เขื่อนแม่กลอง เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงรายวันของโรงงานบางชัน เนสท์เล่ ประเทศไทย และตรวจสอบใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่ตรงตามแหล่งผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อทดสอบรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบใหม่ที่จะส่งเสริมและยกระดับภาคพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของไทยสู่มาตรฐานสากลตามนโยบายภาครัฐ รวมถึงความพร้อมในการตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวของทุกภาคธุรกิจเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน เช่น CBAM และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำและมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศและภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่อินโนพาวเวอร์เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขาย REC ครบวงจร โดยในปี 2565 ได้สนับสนุนการซื้อขายไปมากกว่า 1,000,000 RECs และประเมินทิศทางตลาด REC ของประเทศไทยว่าจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดการซื้อขาย REC เพิ่มขึ้น ยังส่งผลสู่การยกระดับการเข้าถึงพลังงานสีเขียวจากระดับรายปีเป็นระดับรายวันหรือรายชั่วโมง
อินโนพาวเวอร์ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ใช้ไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่น การรวบรวม REC จากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียวรายย่อย (RECs Aggregator) เพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายย่อยเพิ่มขึ้น และเตรียมความพร้อมการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบ Utility Green Tariff