xs
xsm
sm
md
lg

“มท.” เวียนหนังสือ “กฤษฎีกา” แจ้งผู้ว่าฯ ชี้ช่องปมนับวาระ พ่วงอำนาจวินิจฉัย/ถอดถอน “ผู้บริหารท้องถิ่น” ที่ถูก ป.ป.ช.เชือด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มท.” เวียนหนังสือ “กฤษฎีกา คณะ 1” แจ้งผู้ว่าฯ-นอภ.ทั่วประเทศ ชี้ช่องปมปัญหา เคสอำนาจสอบสวนวินิจฉัย นับวาระตำแหน่ง “ผู้บริหารท้องถิ่น” ที่ถูก ป.ป.ช.เชือด! วินัย-อาญา แล้วได้รับเลือกตั้งกลับมา รวมถึงเคสอำนาจ รมว.มหาดไทย ว่าด้วยถอดถอน “ผู้บริหารท้องถิ่น” ที่ถูกชี้มูลความผิด ฐานเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

วันนี้ (20 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือสำเนา แจ้งบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 641/2566 มายังกระทรวงมหาดไทย ภายหลังได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.3/5715 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2565 ขอหารือ ว่าด้วยการนับวาระการดำรงตำแหน่งของ “นายกเทศมนตรี และรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด”

กรณีการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ของผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนกับผู้บริหารท้องถิ่น ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ส่งมาให้ รมว.มหาดไทย ดำเนินการนั้น

ล่าสุด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ให้ดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบและถูกต้อง ตามหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ใจความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาและมีความเห็น ว่าการนับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกเทศมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

และได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2557 ข้อ 5 และกรณีที่เป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติหน้าที่เดิม

“จึงมิใช่การดำรงตำแหน่งในวาระใหม่ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้มีการเลือกตั้ง การนับระยะเวลา พันจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี จึงนับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง”

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด “รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

โดยทุจริตตามมาตรา 152 และมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการกระทำความผิด ฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นเทนความผิดหลักที่อยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จึงมีอำนาจชี้มูลความผิดที่เกียวข้องกันนั้นได้

ในกรณีนี้ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดฐานเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญา ที่ อบจ.นั้น เป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่ อบจ.นั้น

อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานหลักที่ได้ชี้มูลไว้แล้ว จึงอยู่ในหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28(2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

“ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน (รมว.มหาดไทย) จึงมีหน้าที่พิจารณาดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดในกรณีดังกล่าว โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีก”

มีรายงานว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เกิดขึ้นภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นาย พ. นายกเทศมนตรี ตำบล บ. ในจังหวัดแห่งหนึ่ง ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

กรณีดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้มาตรฐาน โดยถนนมีค่ากำลังอัดคอนกรีต และความหนาไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง กับ อบจ.ในจังหวัดนั้น

รวมถึง กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นาย ส. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส. กับพวก ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด

และกระทำการอันมีลักษณะเน้นการขัดกันระหว่าง์ประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 และยังมีมูลความผิดทางอาญา


กำลังโหลดความคิดเห็น