xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิมตรวจการบ้าน! เงินกู้สู้โควิด 1.7 แสนล้าน เฉพาะ 1,408 โครงการ ท้องถิ่น 76 จังหวัด ใช้แล้ว! 2.9 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ปรึกษาฯ ประเมินเงินกู้สู้โควิดรอบสอง ตามกรอบ 1.7 แสนล้าน เตรียมลงพื้นที่ทั่วประเทศ ตรวจการบ้าน 1,408 โครงการ ที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ 2.9 พันล้าน ในมือท้องถิ่น ระดับเทศบาลตำบล-อบต. มากกว่า 800 แห่ง ใน 76 จังหวัด หลังสิ้นสุดโครงการไปตั้งแต่ 31 ธ.ค.ปีก่อน เผยเฉพาะเงินกู้เพิ่มเติมปี 64 ประเมินแล้ว 14 โครงการ วงเงิน 2.8 แสนล้าน จ่อชง ครม.ผ่าน/ไม่ผ่าน

วันนี้ (19 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตลอด 5 เดือนนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาลงพื้นที่ ใน 76 จังหวัด

ตามโครงการเพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ตามกรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท

ภายหลัง สบน.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ได้ว่าจ้าง “กิจการร่วมค้า กลุ่มที่ปรึกษา บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (กลุ่มที่ปรึกษาฯ)”

“ประสานจังหวัดให้กลุ่มที่ปรึกษาฯ ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการภายใต้ “โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากปี 2565” ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับ สถ. เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการติดตามและประเมินผลสำหรับโครงการ”

สำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนื่งของกรอบแผนงาน หรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท ตามมติครม. 21 ก.ย. 2564

เป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ที่มี 6 รองนายกรัฐมนตรี กำกับ และติดตามการปฎิบัติราชการในภูมิภาคพิจารณา มีกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนผ่าน 18 เขตตรวจราชการ

เป็นโครงการช่วยเหลือ สถานประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยผ่าน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามกรอบระยะเวลาดำเนินการ ถึง ธ.ค. 2565

มีการจัดสรรงบ “เงินกู้” ตามกรอบดังกล่าว วงเงิน 2,989,248,306 บาท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประเภท เทศบาลตำบล (ทต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล( อบต.) ประมาณ 800 แห่ง ใน 76 จังหวัด จำนวน 1,408 โครงการ

สถ. เคยให้ อปท.รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินงานการเบิกจ่ายเงินกู้ของ อปท. ในทุกกรณี เช่น ไม่สามารถดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง หรือลงนามผูกพันสัญญาโครงการได้ รวมถึงการเสนอยกเลิกการดำเนินโครงการ เป็นต้น

สำหรับที่ปรึกษาชุดนี้ ได้รับงบประมาณ วงเงินรวม 19,926,200 บาท แบ่งเป็น งบประจำปี 2565 จำนวน 3,985,200 บาท และปีงบ 2566 จำนวน 15,941,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินการ 11 เดือน แล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 2566

มีขอบเขตของงาน เช่น จัดทำกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ในการประเมินผลตามมาตรฐานสากล 5 ด้าน ได้แก่

ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน, จัดทำขอบเขตการประเมินผล (Evaluation Scope)

จัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิเพื่อใช้ในการศึกษาวิเคราะห์, ประเมินผลโครงการ, จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้

จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการและผลสัมฤทธิ์,จัดทำแบบจำลอง (Model) ที่ใช้ประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม และนำเสนอข้อมูลการติดตามประเมินผล.

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ของกระทรวงการคลัง ได้รายงานการประเมินผลกระทบภาพรวมของ พ.ร.ก. กู้เงิน โควิด-19 พ.ศ. 2563

และร่างรายงานการประเมินผลโครงการรอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 ของ พ.ร.ก. กู้เงิน โควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 14 โครงการ วงเงิน 280,140 ล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอต่อ ครม.เพื่อทราบต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น