xs
xsm
sm
md
lg

ภท.ปิ๊งไอเดียใช้ก๊าซอ่าวไทยผลิตปุ๋ยราคาถูก ฝ่าวิกฤตต้นทุนเกษตรกรพุ่ง ยันไม่กระทบผลิตไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วีระกร” ห่วงชาวนาจมทุกข์-หนี้บาน เหตุถูกปล้นค่าปุ๋ยเพิ่มไร่ละ 1.1 พัน บ. ชงนโยบายแก้วิกฤตปุ๋ยแพง ดันสร้าง รง.ผลิตราคาถูก กระสอบไม่เกิน 600 แค่แบ่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยวันละ 2% มาใช้มั่นใจไม่กระทบกำลังผลิตไฟฟ้า

วันนี้ (17 ก.พ.) นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการ “พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก และยูทูบพรรคภูมิใจไทย ถึงนโยบายด้านการเกษตรของพรรคภูมิใจไทย ว่า ชาวนาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ นาลุ่ม หรือนาในเขตชลประทาน กับ นาดอน โดย นาลุ่ม หรือนาในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตที่สูงกว่า ได้ประมาณไร่ละ 1 ตัน หรือ 1 เกวียน ขณะที่พี่น้องชาวนาดอนอาศัยแต่น้ำฝน ปีหนึ่งจะทำนาได้เพียงครั้งเดียว ผลผลิตได้เพียง 600 กิโลกรัมต่อไร่ ก็จะมีรายได้น้อยกว่า ปัจจุบันราคาข้าวเปลือก อยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน เพราะฉะนั้นพี่น้องชาวนาลุ่มจะมีรายได้ไร่ละ 8,000 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 5,000 บาท ก็จะมีกำไรไร่ละ 3,000 บาท แต่ในปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาราคาปุ๋ยที่สูงจากกระสอบ 50 กิโลกรัมละ 600 กว่าบาท ขึ้นไปเป็น 1,700 บาทต่อกระสอบ โดยชาวนาจะใช้ปุ๋ย 1 ลูกต่อ 1 ไร่ ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นไร่ละประมาณ 1,100 บาท

“นาข้าว 1 ไร่ ใช้ปุ๋ยประมาณ 1 ลูก แปลว่า 1 ไร่ของพี่น้องชาวนา จะมีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น มาถูกปล้นค่าปุ๋ยไป ไร่ละ 1,100 บาท จะเห็นได้ว่า ชาวนา ไม่ว่าจะเป็นนาลุ่ม หรือชาวนาดอน ที่ทำนาทั้งประเทศ 65 ล้านไร่ ไม่มีใครมีความสุข มีแต่ความทุกข์ตลอด” นายวีระกร ระบุ

นายวีระกร กล่าวต่อว่า สุดท้ายทำนา สิ่งที่เหลือก็คือ หนี้ จนต้องไปรับจ้างทำอย่างอื่นนอกฤดูกาล แล้วก็เหลือข้าวที่สีไว้รับประทานกันในครอบครัว พรรคภูมิใจไทย มีนโยบายที่จะผ่าทางตันให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้มีการสร้างโรงงานปุ๋ย เพื่อผลิตปุ๋ย ราคาถูกให้กับพี่น้องเกษตรกรในราคาลูกละไม่เกิน 600 บาท โดยปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยนา ทำมาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่พี่น้องชาวไทยทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เราผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ได้ 2,651 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากแบ่งมาเพียง 2% มาผลิตปุ๋ยให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยไม่ต้องห่วงว่า จะกระทบกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ เพราะหากก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ ก็ยังมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นแหล่งพลังงานทดแทน

“ไม่ต้องห่วงว่า ถ้านำก๊าซธรรมชาติ มาทำปุ๋ยให้กับพี่น้องเกษตรกร แล้วจะทำให้ขาดแคลนไฟฟ้า เพราะใน 1.3 ล้านตันแรก มี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีกำลังผลิต 3 พันล้านยูนิตต่อปี รองรับอยู่ แค่เปิดเครื่อง เปิดสวิตช์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าชดเชยให้กับก๊าซธรรมชาติที่จะขาดหายไปจากการนำมาทำปุ๋ยยูเรียให้กับพี่น้องเกษตรกร” นายวีระกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น