xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.แจง “ทวี” ไม่บันทึกบัญชีที่เขากระโดงให้ครบ เหตุยังอยู่ในการพิสูจน์สิทธิ ยันไม่เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การรถไฟฯ ชี้แจง “ทวี” อภิปรายพาดพิงการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดงในงบการเงินให้ครบถ้วน ชี้ ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ยังไม่สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ยันโปร่งใสไม่เลือกปฏิบัติ

วันนี้ (16 ก.พ.) ตามที่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติได้อภิปรายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 พาดพิงถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 30 กันยายน 2564 โดยสรุปว่า “ในเอกสารประกอบการพิจารณาที่การรถไฟฯ จัดส่งให้แก่กรรมาธิการงบประมาณนั้น ระบุที่ดินนอกย่านของการรถไฟฯ ที่จังหวัดบุรีรัมย์-โรงโม่ ทางเข้าเขากระโดง ว่า มีจำนวน 69.19 ไร่เท่านั้น ในขณะที่ศาลฎีกาได้เคยตัดสินว่า ที่ดินบริเวณดักงกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ 5,000 กว่าไร่ จึงมีข้อสงสัยว่าที่ดินที่นอกเหนือจาก 69.19 ไร่ หายไปไหน” นั้น

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการบันทึกบัญชีที่ดิน และมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วน การรถไฟฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

การกำหนดรายละเอียดในทะเบียนบัญชีสินทรัพย์กรณีที่จะต้องส่งให้กับคณะกรรมาธิการงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณา ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
สำหรับมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

“ข้อ 7 กิจการต้องรับรู้ต้นทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อ ต่อไปนี้
7.1 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากรายการนั้น และ
7.2 กิจการสามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ”
ที่ดิน จำนวน 69.19 ไร่ ตามที่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้กล่าวถึงนั้น เป็นเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ เข้าไปยังที่ดินการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง ซึ่งไม่มีปัญหา

การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน การรถไฟฯ จึงสามารถบันทึกรายการดังกล่าวลงในบัญชีสินทรัพย์ของการรถไฟฯ จำนวน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 และ สตง. ไม่ได้ท้วงติงโต้แย้งในประเด็นนี้
สำหรับพื้นที่ที่เหลือในจำนวน 5,083 ไร่ ซึ่ง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้กล่าวว่า การรถไฟฯ ไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์ นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จึงเป็นกรณีที่ยังไม่สามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการที่ดินนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ได้ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว

ทั้งนี้ การบันทึกบัญชีทรัพย์สินหรือหลักฐานอื่นใด จำนวน 5,083 ไร่ ดังกล่าวการรถไฟฯ ได้จัดเก็บหลักฐานในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย

• พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พุทธศักราช 2462 ประกาศวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 โดยมีการจัดเก็บแผนที่อยู่ที่ กระทรวงเกษตราธิการ ที่ว่าการกรมรถไฟหลวง และศาลารัฐบาล มณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุบลราชธานี

• พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2464 ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2464

• รวมถึงเอกสารการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินดังกล่าว

เนื่องจากที่ดินดังกล่าว มีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิโดยการรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล เมื่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิเสร็จสิ้น หรือคดีถึงที่สุดแล้ว การรถไฟฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาและจะได้ดำเนินการตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 ต่อไป

สำหรับที่ดินรถไฟเส้นทางพังงา-ท่านุ่น ที่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ นำมากล่าวอ้างนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริเวณดังกล่าวมีพื้นที่รวมประมาณ 905 ไร่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ประมาณ 251 ไร่ กรณีนี้จึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับพื้นที่เขากระโดงที่ได้มีการบันทึกรายการทะเบียนสินทรัพย์สำหรับที่ดินบางส่วนแล้ว ซึ่งยังคงมีที่ดินอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งยังต้องมีการพิสูจน์สิทธิในชั้นศาลเมื่อกระบวนการพิสูจน์สิทธิเสร็จสิ้น จึงจะนำมาบันทึกในรายการทรัพย์สิน ตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 16 ต่อไป

การรถไฟฯ ขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกอย่างตามระเบียบ และขั้นตอนของกฎหมาย ด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ดำเนินการอย่างอิสระตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเห็นแก่ประโยชน์ขององค์กร และประเทศชาติเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น